หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พริกขี้หนูหัวเรือ พันธ์ใหม่



พริกขี้หนูหัวเรือ พันธ์ใหม่

พริกขี้หนูหัวเรือ” มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากโดยเฉพาะในเขต จ.อุบลราชธานี แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกพริกสายพันธุ์นี้พบปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เองและไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์

ต่อมาศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ใช้เวลาประมาณ 7 ปีในการคัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือแบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ สุดท้ายได้ทำการทดสอบสายพันธุ์ในไร่ของเกษตรกรได้พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์เองถึง 14% ขนาดของทรงพุ่มเล็กกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นประมาณ 80-90 เซนติเมตรเท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็วคือ 90 วัน หลังจากย้ายปลูกลงแปลง

ที่สำคัญเป็นพริกที่มีขนาดผลสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดกมาก มีความยาวของผลเฉลี่ย 7-8 เซนติเมตร จัดเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีความเผ็ดมาก นอกจากนั้นยังจัดเป็นพริกขี้หนูที่มีกลิ่นหอมเมื่อผลแก่มีสีแดงสดใช้รับประทานสดหรือแปรรูปเป็นพริกขี้หนูแห้งจะได้พริกขี้หนูที่มีขนาดใหญ่และสีแดงสวย จำหน่ายได้ราคาสูงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท

เคล็ดลับกับการปลูกพริกหัวเรือพันธุ์ใหม่ให้ทันช่วงราคาสูง เริ่มเพาะต้นกล้าพริกตั้งแต่กลางเดือนก.ค.-กลางเดือนส.ค. เพื่อจะปลูกในเดือนก.ย. ในช่วงดังกล่าวฝนตกชุกที่สุดจะทำให้ต้นกล้าเน่า เพราะน้ำขังหรือดินแน่น จากนั้นเพาะต้นกล้าในแปลงเพาะกล้าหรือถาดละ 104 หลุม ก่อนเพาะ 1 วัน ต้องนำไปแช่น้ำอุ่น 55oC (น้ำเย็น 1 ส่วน + น้ำเดือด 1 ส่วน) นาน 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแอนแทรคโนส (กุ้งแห้ง) ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้แช่เมล็ด 1 คืน จึงเพาะในกระบะหลุมละ 1 เมล็ด กลบดิน เก็บถาดในที่ร่มรำไร หรือมีตาข่ายพรางแสงอย่าให้ถูกฝนโดยตรง หลังจากงอกได้ 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยทางใบพ่นทุก 7-10 วัน ไม่ควรใช้ยูเรีย เพราะต้นกล้าจะอวบเกินไป เมื่อต้นกล้าอายุ 1 เดือนนำมาปลูกได้

การดูแลรักษาพริกหลังปลูก 15 วันพ่นน้ำหมักชีวภาพพ่นทุก 7-10 วันจนออกดอก ฉีดสลับกับปุ๋ยแคลเซียมไนเตรท (สูตร 15-0-0) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในช่วงติดผลเล็กเพื่อแก้ปัญหาเกิดผลนิ่ม ปลายผลเหี่ยวเนื่องจากการขาดธาตุแคลเซียมและป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งแห้งเข้าทำลายซ้ำ ถ้ามีไร โรค แมลงศัตรูทำลายให้ใช้สารเคมีตามความเหมาะสมหรือพ่นสลับกับน้ำหมักสมุนไพร.


อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00712