หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรครอบฟันสี ยาเบาหวาน ยาไต ยาแก้เจ็บคอ

สมุนไพรครอบฟันสี : ยาเบาหวาน ยาไต ยาแก้เจ็บคอ

ครอบฟันสี มีชื่อที่หมอยาพื้นบ้านปราจีนบุรีนิยมเรียกกันว่า "หมากก้นจ้ำ" เป็นสมุนไพรใช้สำหรับคุมระดับน้ำตาลในเลือด ที่เขาเรียกหมากก้นจ้ำนั้น เกิดจากการที่เด็กๆ รุ่นพ่อหมอเหล่านั้นชอบเอาผลของหมากก้นจ้ำเอามาต่อกัน เนื่องจากผลมีลักษณะกลมเป็นกลีบๆ จึงเอาก้นมันมาจ้ำต่อกันได้พอดี และจากลักษณะของผลที่เป็นกลีบๆ คล้ายฟันที่ใช้สีข้าว จึงเรียกกันอีกชื่อว่า ครอบฟันสี หรือบางคนก็เรียก มะก่องข้าว มะอุบข้าว กระติ๊บข้าว ก็มี เพราะลักษณะผลเหมือนกระติบข้าวเหนียวด้วย ส่วนคนโคราชจะเรียกครอบฟันสีว่า โพะเพะ เนื่องจากเด็กสมัยก่อนจะเอาใบมาเล่น โดยทำมือเป็นวงกลมเอาใบของครอบฟันสีวางลงแล้วใช้มือตบ ใบจะแตกดังโพะ

นอกจากชื่อที่ได้กล่าวมายังมีหมอยาบางท่านเรียกว่า ครอบจักรวาล เพราะสมุนไพรต้นนี้มีสรรพคุณทางยาครอบจักรวาลนั่นเอง ชื่อที่แปลกไปสักหน่อยคือ พรมชาติ เป็นชื่อเรียกครอบฟันสีในแถบภาคกลางบางพื้นที่โดยมีความหมายว่ารักษาได้สารพัดโรคเช่นกัน

ครอบฟันสี...ยาดีของผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อยี่สิบปีก่อนได้จัดเสวนาหมอยาพื้นบ้านจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้รู้ว่าครอบฟันสีหรือที่พ่อหมอนิยมเรียก “ก้นจ้ำ” เป็นสมุนไพรที่คนป่วยเป็นโรคเบาหวานต้มกินเพื่อใช้คุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล (ตอนนั้นยังไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า) หมอยาทุกคนจะรู้เหมือนๆ กันหมดถึงสรรพคุณนี้ของก้นจ้ำ มาสนใจเจ้าก้นจ้ำอีกครั้งเมื่อสองปีที่ผ่าน ก่อนครั้งที่ “คุณสมัย คูณสุข” ผู้นำกลุ่มสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง เล่าให้ฟังว่า แกได้ให้คนในหมู่บ้านที่เป็นเบาหวานนำผลก้นจ้ำไปต้มน้ำกิน ทีละ ๘-๙ ผล ต่อน้ำประมาณ ๒ ลิตร แล้วมีผลทำให้น้ำตาลลดลงมากเกินไป จึงได้แนะนำให้กินลดลงเหลือ ๔-๕ ผลต่อน้ำประมาณ ๒ ลิตร ต้มดื่มต่างน้ำ พบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ ตอนนี้คุณสมัยจึงมีอาชีพเสริมคือการเก็บผลก้นจ้ำจำหน่ายด้วย

ความรู้เรื่องการใช้ครอบฟันสีนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งเมื่อได้มาจัดรายการวิทยุ ในรายการ “สุขภาพสู่เศรษฐกิจ” คลื่น A.M. ๘๑๙ ช่วงเวลาประมาณสี่ทุ่มครึ่งถึงห้าทุ่ม เป็นรายการสดที่ในช่วงท้ายของรายการจะเปิดสายให้ผู้ฟังทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม ให้คำแนะนำ ให้ความรู้หรือแบ่งปันประสบการณ์กัน ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘ ท่านผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นคนชนบทและสูงอายุ มักจะมีความรู้เรื่องสมุนไพรมาแบ่งปันในรายการเสมอๆ ซึ่ง “คุณสมพงษ์ ยอดปรางค์” คนบ้านดอนถั่วแปบ ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ยืนยันว่า “นายสน ขุนชัย” คุณตาของท่านซึ่งเป็นหมอยาพื้นบ้านตำบลบ้านปรางค์ ซึ่งเสียชีวิตด้วยวัย ๙๐ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ใช้ต้นครอบฟันสีทั้ง ๕ รักษาโรคเบาหวาน ไม่ใช้เฉพาะผลอย่างเดียว ทั้งยังยืนยันว่า นอกจากลดน้ำตาลแล้วคนที่เป็นแผลเปื่อยจากเบาหวานก็หายได้ และ “คุณแพง สีดวงมาลัย” ปัจจุบันอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่มีบ้านเดิมอยู่ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม คุณแพงมีพ่อเป็นหมอยาพื้นบ้านก็ได้ยืนยันมาเช่นเดียวกัน และยังมีท่านผู้ฟังอีกหลายท่านที่โทรศัพท์เข้ามายืนยันถึงสรรพคุณนี้กับทางรายการ

จากการค้นคว้าทางเอกสารพบว่า ในประเทศอินเดียก็ใช้ครอบฟันสีรักษาโรคเบาหวานเช่นกัน และปัจจุบันมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ครอบฟันสีมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้

ครอบฟันสี…ขับปัสสาวะ รักษาปัสสาวะลำบาก ปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ

สรรพคุณที่โด่งดังของครอบฟันสีที่รองมาจากเบาหวานคือ การใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ หรือที่ทางการแพทย์แผนใหม่จะเรียกโรคนี้ว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือ Urinary Tract Infection มีชื่อย่อๆ ว่ายูทีไอ (UTI) โรคนี้มักจะเป็นในผู้หญิง เมื่อตอนตัวเองป่วยด้วยโรคนี้ “คุณประวิง กลิ่นไกล” เจ้าหน้าที่มูลนิธิได้ต้มต้นครอบฟันสีทั้ง ๕ มาให้กิน โดยความรู้ในการใช้ครอบฟันสีกับอาการเหล่านี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่นอกเมืองในแถบปราจีนบุรีเมื่อยี่สิบปีก่อนจะรู้จักใช้กันดี แม้จะไม่ใช่หมอยาก็ตาม และเมื่อได้มาจัดรายการวิทยุ ก็ได้มีผู้ฟังหลายท่านได้โทรศัพท์เข้ามาบอกสรรพคุณของครอบฟันสีในการใช้เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงไต รวมทั้งหมอยาอีกหลายๆ ท่านที่ได้ไปสอบถามทุกท่านก็บอกตรงกันว่า รากของครอบฟันสีใช้ในสรรพคุณดังกล่าว ซึ่งจีนและอินเดียต่างก็ใช้ครอบฟันสีในการรักษาโรคและอาการดังกล่าวด้วยเช่นกัน งานวิจัยสมัยใหม่พบว่าครอบฟันสีมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะและต้านเชื้อแบคทีเรีย

ครอบฟันสี… แก้แผลพุพอง ปวดในกระดูก แก้ไข้

สรรพคุณเด่นอีกอย่างของครอบฟันสีคือการรักษาแผลพุพอง แผลเรื้อรัง แผลเบาหวาน ซึ่งทั้งคุณสมพงษ์ ยอดปรางค์และคุณพิทักษ์ ตีเหล็ก (เจ้าพนักงานเภสัชกรรมที่มีตาเป็นหมอยาพื้นบ้าน จังหวัดนครราชสีมา) ต่างยืนยันถึงสรรพคุณในการรักษาแผลเบาหวาน แผลพุพองของครอบฟันสี ซึ่งสรรพคุณนี้ในอินเดียก็ใช้เช่นกัน ปัจจุบันมีการศึกษาผลของครอบฟันสีกับการหายของแผลพบว่า ครอบฟันสีทำให้แผลหายเร็วขึ้นโดยทำให้คอลลาเจนมาเกาะที่แผลมากขึ้น มีการเรียงตัวและการเติบโตดีขึ้น คุณพิทักษ์ ตีเหล็กยังบอกว่า ครอบฟันสีใช้ต้มกินแก้อาการปวดในกระดูกและแก้ไข้ ซึ่งมีหมอยาบางท่านเคยพูดถึงสรรพคุณนี้ของครอบฟันสีไว้ด้วย และหมอยาบางท่านบอกว่าอาจใช้ต้มอาบ ประคบหรือพอกร่วมกับการต้มกินด้วยก็ได้ ทั้งยังสอดคล้องกับการใช้ในอินเดียซึ่งใช้ครอบฟันสีในการแก้ปวด แก้ไข้ด้วยเหมือนกัน ในการศึกษาสมัยใหม่พบว่าครอบฟันสีมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบได้ในห้องทดลอง

ครอบฟันสี...แก้เจ็บคอ ต่อมทอลซิลอักเสบ

หมอยาจีนยังนิยมใช้ครอบฟันสีในการรักษาอาการหวัด เจ็บคอ ต่อมทอลซิลอักเสบ ไอ หลอดลมอักเสบ สรรพคุณเช่นนี้ “คุณพานี นิ่มนุ่ม”จาก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ลูกสาวแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ฟังรายการวิทยุได้ยืนยันอย่างเข้มแข็งว่าสามารถใช้ได้จริง โดยจะใช้รากของครอบฟันสีทุบๆ แล้วแช่น้ำส้มสายชูไว้ประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นใช้อมรักษาอาการดังกล่าว


เราหวังว่า ทุกท่านได้ประโยชน์ที่อ่านบทความนี้ตามพอสมควร
ขอความกรุณาคลิ๊กปุ่ม +1 , ปุ่ม Like ,ปุ่ม Tweet และ แสดงความเห็น ให้เราด้วยนะครับ เพือปรับปรุงบทความต่อๆไป ขอบคุณครับ
อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00749

วิธีปลูกกล้วย



การปลูกกล้วยไข่

กล้วยไข่ หรือ กล้วยกระ,กล้วยเจ็กบอง กล้วยไข่เป็นผลไม้ที่นิยมผู้บริโภคกันทั่วไป เนื่องจากมีรสชาติดี ลักษณะการเรียงตัวของผลและสีผลสวยงานน่ารับประทาน

ลักษณะทั่วไป

- ต้น ลำต้นสูง 2. 5 - 3 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 - 20 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวปนเหลือง มีประสีน้ำตาลอ่อน ด้านในสีชมพูอมแดง
- ใบ ก้านใบสีเขียวอมเหลือง มีร่องกว้าง โคนก้านมีครีบสีชมพู
- ดอก ก้านช่อดอก มีขนอ่อน ปลีรูปไข่ ม้วนงอขึ้น ปลายแหลม ด้านนอกสีแดงอมม่วง ด้านในที่โคนกลีบสีซีด
- ผล เครือหนึ่งมี 6 - 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 14 ผล ผลค่อนข้างเล็ก ก้านผลสั้น เปลือกผลบางเมื่อสุก มีสีเหลืองสดใส บางครั้งมีจุดดำเล็ก ๆ ประปราย เนื้อสีครีม อมส้ม รสหวาน

พื้นที่ปลูกกล้วยไข่ที่เหมาะสม

สภาพพื้นที่
- พื้นที่ดอน หรือพื้นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง
- ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร
- มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรืออยู่ในเขตชลประทาน
- การคมนาคมสะดวก

ลักษณะดิน
- ดินร่วน, ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนปนทราย
- มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี
- ระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 75 เซนติเมตร
- ค่าความเป็นกรดด่างของดินระหว่าง 5.0-7.0

แหล่งน้ำ
- มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูปลูก
- เป็นแหล่งน้ำสะอาด ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำระหว่าง 5.0-9.0

การเตรียมดิน
- วิเคราะห์ดิน เพื่อประเมินค่าความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชในดิน และความเป็นกรดด่างของดิน ปรับสภาพดินตามคำแนะนำก่อนปลูก
- ไถพรวน ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อลดการระบาดของศัตรูพืช
- คราดเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง

วิธีการปลูกกล้วยไข่
- ปลูกด้วยหน่อใบแคบที่มีความสมบูรณ์ดี
- เตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร
- รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 5 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้ากับหน้าดินรองก้นหลุมปลูกถ้ามีการไว้หน่อ (ratoon) เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไป  อีก 1-2 รุ่น ควรรองก้นหลุมด้วย หินฟอสเฟต อัตรา 100-200 กรัม/หลุม
- ระยะปลูก (1.5-1.75) x2 เมตร เป็นการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงครั้งเดียว แล้วรื้อปลูกใหม่ 2x2 เมตรเป็นการปลูกสำหรับไว้ตอหรือ  หน่อ (ratoon) เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตของหน่อ (ratoon) อีก 1-2 รุ่น
- การปลูก วางหน่อพันธุ์ที่หลุมปลูกให้ลึก 25-30 เซนติเมตร โดยจัดวางหน่อพันธุ์ให้ด้านที่ติดกับต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน กลบดินลงหลุม  ปลูกและกดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
การพรวนดิน: ภายหลังปลูกกล้วยไข่ประมาณ 1 เดือนควรรีบทำการพลิกดินให้ทั่วทั้งแปลงปลูก เพื่อให้ดินเก็บความชื้นจากน้ำฝนไว้ให้มากที่สุด และเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย ขณะที่รากกล้วยยังขยายไปไม่มากนัก

การกำจัดวัชพืช:ควรกำจัดวัชพืชปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกพร้อม ๆ กับการพลิกดิน ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 ให้พิจารณา จากปริมาณวัชพืช แต่จะทำก่อนที่ต้นกล้วยตกเครือ

การให้ปุ๋ย:ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ครั้ง เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก่อนปลูกอัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ปุ๋ยเคมี 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่กล้วยมีการเจริญเติบโตทางลำต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง หลังจากปลูก 1 และ 3 เดือน การให้ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 3 และ 4 จะให้ปุ๋ยเคมีภายหลังจากปลูก 5 และ 7 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่กล้วยใกล้จะให้ผลผลิต จะให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-24, 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้งวิธีการใส่ปุ๋ยเคมี โรยห่างจากต้นประมาณ 30 เซนติเมตร หรือใส่ลงในหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร 4 ด้าน แล้วพรวนดินกลบ การให้น้ำ:ในฤดูฝน เมื่อฝนทิ้งช่วง เมื่อสังเกตหน้าดินแห้งและเริ่มแตก ควรรีบให้น้ำในฤดูแล้งเริ่มให้น้ำตั้งแต่หมดฝน ประมาณปลายเดือนมกราคม-พฤษภาคม
 

เราหวังว่า ทุกท่านได้ประโยชน์ที่อ่านบทความนี้ตามพอสมควร
ขอความกรุณาคลิ๊กปุ่ม +1 , ปุ่ม Like ,ปุ่ม Tweet และ แสดงความเห็น ให้เราด้วยนะครับ เพือปรับปรุงบทความต่อๆไป ขอบคุณครับ
อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00745