หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พริกขี้หนูหัวเรือ พันธ์ใหม่



พริกขี้หนูหัวเรือ พันธ์ใหม่

พริกขี้หนูหัวเรือ” มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากโดยเฉพาะในเขต จ.อุบลราชธานี แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกพริกสายพันธุ์นี้พบปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เองและไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์

ต่อมาศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ใช้เวลาประมาณ 7 ปีในการคัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือแบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ สุดท้ายได้ทำการทดสอบสายพันธุ์ในไร่ของเกษตรกรได้พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์เองถึง 14% ขนาดของทรงพุ่มเล็กกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นประมาณ 80-90 เซนติเมตรเท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็วคือ 90 วัน หลังจากย้ายปลูกลงแปลง

ที่สำคัญเป็นพริกที่มีขนาดผลสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดกมาก มีความยาวของผลเฉลี่ย 7-8 เซนติเมตร จัดเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีความเผ็ดมาก นอกจากนั้นยังจัดเป็นพริกขี้หนูที่มีกลิ่นหอมเมื่อผลแก่มีสีแดงสดใช้รับประทานสดหรือแปรรูปเป็นพริกขี้หนูแห้งจะได้พริกขี้หนูที่มีขนาดใหญ่และสีแดงสวย จำหน่ายได้ราคาสูงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท

เคล็ดลับกับการปลูกพริกหัวเรือพันธุ์ใหม่ให้ทันช่วงราคาสูง เริ่มเพาะต้นกล้าพริกตั้งแต่กลางเดือนก.ค.-กลางเดือนส.ค. เพื่อจะปลูกในเดือนก.ย. ในช่วงดังกล่าวฝนตกชุกที่สุดจะทำให้ต้นกล้าเน่า เพราะน้ำขังหรือดินแน่น จากนั้นเพาะต้นกล้าในแปลงเพาะกล้าหรือถาดละ 104 หลุม ก่อนเพาะ 1 วัน ต้องนำไปแช่น้ำอุ่น 55oC (น้ำเย็น 1 ส่วน + น้ำเดือด 1 ส่วน) นาน 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแอนแทรคโนส (กุ้งแห้ง) ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้แช่เมล็ด 1 คืน จึงเพาะในกระบะหลุมละ 1 เมล็ด กลบดิน เก็บถาดในที่ร่มรำไร หรือมีตาข่ายพรางแสงอย่าให้ถูกฝนโดยตรง หลังจากงอกได้ 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยทางใบพ่นทุก 7-10 วัน ไม่ควรใช้ยูเรีย เพราะต้นกล้าจะอวบเกินไป เมื่อต้นกล้าอายุ 1 เดือนนำมาปลูกได้

การดูแลรักษาพริกหลังปลูก 15 วันพ่นน้ำหมักชีวภาพพ่นทุก 7-10 วันจนออกดอก ฉีดสลับกับปุ๋ยแคลเซียมไนเตรท (สูตร 15-0-0) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในช่วงติดผลเล็กเพื่อแก้ปัญหาเกิดผลนิ่ม ปลายผลเหี่ยวเนื่องจากการขาดธาตุแคลเซียมและป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งแห้งเข้าทำลายซ้ำ ถ้ามีไร โรค แมลงศัตรูทำลายให้ใช้สารเคมีตามความเหมาะสมหรือพ่นสลับกับน้ำหมักสมุนไพร.


อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00712

อ้อย การปลูกอ้อย


อ้อย

อ้อยเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ
ของประเทศ คือ
1) มีการบริโภคน้ำตาลในประเทศปีละประมาณ 1.6-1.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท
2) มีการ ส่งออกน้ำตาลจำหน่ายในตลาดโลกปีละกว่า 3 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศ ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ประเทศไทยมีสถานภาพ เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก บราซิล สหภาพ ยุโรป แต่บางปีจะเป็นอันดับ 4 รองจากออสเตรเลียมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 9.5 ของโลก มีตลาดสำคัญ คือ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
3) เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจะมีรายได้จากการจำหน่ายอ้อยทั้งหมด ประมาณ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ภาคเกษตรทั้งหมด
4) เป็นตลาดแรงงานใหญ่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งด้านแรงงานตัดอ้อยและแรงงานในโรงงานน้ำตาล ในช่วงฤดูตัดอ้อยประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนเมษายน จะมีการจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่า 600,000 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงแรงงาน ในการบรรทุกและขนส่งอ้อย

บทบาทด้านพลังงาน

น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมาช้านาน เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการที่สูงขึ้นตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ประเทศไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงกว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการประมาณการเมื่อ รวมปริมาณน้ำมันจากแหล่งผลิตใหญ่ๆ ของโลกเราจะมีน้ำมันสำรองใช้ได้อีก 40 ปี หากใช้ในอัตราปัจจุบัน การคิดค้นแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ และที่มีความตื่นตัวกันมากในขณะนี้ คือ “เอทานอล” เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการหมักพืช เศษซากพืช ได้แก่ อ้อยน้ำตาล กากน้ำตาล กากอ้อย บีทรูท (หัวผักกาดหวาน) แป้ง มันสำปะหลัง มันเทศ ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เพื่อเปลี่ยนแป้งจากพืชให้เป็นน้ำตาลแล้วเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์อีกครั้ง แอลกอฮอล์ที่ทำให้บริสุทธิ์ 95% จะเรียกว่า เอทานอล (Ethanol)จากรายงานของผู้ผลิตรายใหญ่พบว่าผลผลิตเอทานอลที่ได้จากวัตถุดิบ คือ พืชชนิดต่างๆ จำนวน 1 ตัน เมื่อผ่านขบวนการผลิตจะได้ผลผลิตเอทานอลที่แตกต่างกัน หากใช้วัตถุดิบประเภทธัญพืช ข้าว ข้าวโพด จะได้เอทานอลสูงถึงจำนวน 375 ลิตร รองลงมาถ้าใช้กากน้ำตาลจะได้เอทานอลจำนวน 260 ลิตร ในขณะที่ใช้หัวมันสดจะได้เอทานอล 180 ลิตร ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ยังใช้ประโยชน์จากอ้อยไม่คุ้มค่า โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบการผลิตน้ำตาล เป็นหลักเท่านั้น การส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลเอทานอลเป็นแนวทาง หนึ่งในการสร้างมูลค่าจากอ้อยและเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลด การนำเข้าพลังงาน และทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตน้ำตาล โดยหากเมื่อใดมีผลผลิตอ้อยจำนวนมากจนเกิดภาวะน้ำตาลล้นตลาด ก็จะนำไปผลิตเอทานอลหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากขึ้น หรือหากเมื่อใด น้ำตาลมีราคาดีให้ผลตอบแทนสูง ก็จะหันไปผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยมีการแสวงหาเชื้อเพลิงจากทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นเวลานาน ดังนั้นการนำผลผลิตทาง การเกษตรมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เช่น เอทานอลจากมันสำปะหลัง อ้อย ธัญพืชอื่นๆ เพื่อนำไปผสมน้ำมันเบนซิน หรือดีเซล จะช่วยลดผลกระทบ จากสภาวะโลกร้อน และสามารถลดการขาดดุลเงินตราต่างประเทศได้ เป็นจำนวนมาก

ปัญหาของพืช ข้อจำกัดและโอกาส
* ต้นทุนการผลิตสูง
* ควรปรับปรุงมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิตให้ถูกต้องเหมาะสม สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
* การขาดแคลนอ้อยพันธุ์ดีที่มีผลผลิต และค่าความหวานสูง และต้านทานโรคแมลง และขาดการกระจายพันธุ์สู่เกษตรกร
* ขาดการจัดการดินอย่างถูกต้อง
* มีการระบาดของศัตรูอ้อย
* แนวโน้มราคาน้ำมันดิบมีค่าสูงขึ้น การใช้พืชพลังงานทดแทนเช่น อ้อย ทดแทนน้ำมันเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างมูลค่าจากอ้อย เพิ่มรายได้และลดการนำเข้าพลังงาน
* บูรณาการกระบวนการผลิตเอทานอลกับโรงงานน้ำตาล เพื่อเกิด ความยืดหยุ่นในการผลิตน้ำตาล เมื่อใดผลผลิตอ้อยมาก น้ำตาลล้นตลาด สามารถนำอ้อยไปผลิตเอทานอล หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

พันธุ์

การเลือกพันธุ์
* ผลผลิตสูง และมีคุณภาพความหวานมากกว่า 10 ซีซีเอส
* ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง แส้ดำ กอตะไคร้ ทนทานต่อหนอนกอลายจุดใหญ่ หรือหนอนกอลายจุดเล็ก ศัตรูที่สำคัญในแต่ละแหล่งปลูก
* เจริญเติบโตดีเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ
* ไว้ตอได้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และผลผลิตไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอ้อยปลูก

พันธุ์อ้อย

ในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยมีหน่วยงานที่ดำเนินการหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัทมิตรผล การดำเนินงานจะเริ่มตั้งแต่การผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์และทดสอบพันธุ์ โดยการคัดเลือกในสภาพแวดล้อมในแหล่งปลูกอ้อยของประเทศไทย พันธุ์อ้อยที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์จะมีลักษณะ ผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต และลักษณะทางการเกษตรที่ดีเด่น แตกต่างกันขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่ทดสอบ และคัดเลือกพันธุ์ ชาวไร่จึงจำเป็นต้องเลือกพันธุ์โดยอาศัยคำแนะนำจากเอกสารแนะนำพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตน

1. พันธ์รับรอง/แนะนำของกรมวิชาการเกษตร

อ้อยโรงงาน
- พันธุ์อู่ทอง 6 ลำต้นมีขนาดใหญ่ ปล้องรูปทรงกระบอก กาบใบสีม่วง ไม่มีขน ทรงกอตั้งสูง ออกดอกยาก อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ผลผลิต 18.04 ตัน/ไร่ ซีซีเอส 13.59 ความสูง 299 ซม. ดินร่วนปนทราย เขตกึ่งชลประทาน

- พันธุ์มุกดาหาร ใบแคงตั้ง ปลายใบโค้ง กาบใบสีเขียวปนม่วง ปล้องรูปทรงกระบอก ทรงกอตั้งตรง ล้มง่าย อายุเก็บเกี่ยว 12-14 เดือน ผลผลิต 13.4 ตัน/ไร่ ความสูง 274 ซม. ดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนเหนียวปนทรายในจังหวัดมุกดาหาร และกาฬสินธุ์

- อู่ทอง 5 รูปร่างปล้อง ลำต้นเมื่อถูกแสงให้สีม่วงอมเขียว ทรงกอ ตั้งตรง ออกดอกปลายเดือนตุลาคม อายุเก็บเกี่ยว 10-11 เดือน ผลผลิตอ้อยตอ1 เฉลี่ย 10.95 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 2 เฉลี่ย 8.87 ตัน/ไร่ ซีซีเอส อ้อยตอ1 เฉลี่ย 1.71 และอ้อยตอ2 เฉลี่ย 1.40 ความสูง 264 ซม.ดินร่วนปนทรายเขตใช้น้ำฝนภาคกลาง และภาคตะวันออก

- ขอนแก่น 1 ใบแผ่ตั้งสีเขียวเข้ม ลำอ้อยสีเหลืองอมเขียว รูปร่างปล้องคอด กลางป่อง ข้อโปน ทรงกอแคบ ตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ออกดอกกลางเดือนธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ผลผลิต 13-16 ตัน/ไร่ ความสูง 257 ซม.แหล่งปลูกภาคตะวันออก เฉียงเหนือ

- อู่ทอง 4 ลำสีเขียวอมเหลืองหรือม่วง ขนาดลำปานกลาง มีขน กลางกาบใบ ทรงกอแผ่เล็กน้อย กว้าง หักล้มปานกลาง ออกดอกปลายเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ซีซีเอส 15.69 ผลผลิต 13-14 ตัน/ไร่ ความสูง 248 ซม. แหล่งปลูกภาคตะวันตกเฉพาะในดินร่วนปน ดินเหนียว

- อู่ทอง 3 ใบใหญ่ตั้ง ปลายแหลม กาบใบมีสีม่วงปนเขียว ลอกกาบใบค่อนข้างยาว ทรงกอตั้งตรง แคบ ไม่หักล้ม ออกดอก ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน ซีซีเอส 15.90 ผลผลิต 13-14 ต้น/ไร่ ความสูง 231 ซม.ดินร่วนปนทรายสภาพไร่ในภาคตะวันตกและ ภาคเหนือตอนล่าง

- อู่ทอง 2 ใบใหญ่ตั้ง ปลายแหลม กาบใบมีขนเล็กน้อย สะสมน้ำตาลเร็ว ออกดอกปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคม ผลผลิต 14.0 ต้น/ไร่ ซีซีเอสมากกว่า 10 ความสูง 228 ซม.แหล่งปลูกเขตชลประทาน ภาคกลางและภาคตะวันตก

- อู่ทอง 1 ปล้องคอดกลาง ใบมีขนาดใหญ่ ทรงใบตั้งโค้งกลางใบ กาบใบสีม่วง มีขนกาบใบเล็กน้อย ทรงกอตั้งตรง กว้าง ไม่หักล้ม ออกดอกปานกลาง อายุเก็บเกี่ยว 11-13 เดือน ผลผลิต 25.20 ต้น/ไร่ ซีซีเอส 11-12 ความสูง 250-350 ซม.แหล่งปลูก ภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุร นครปฐม

- ชัยนาท 1 ใบมีขนาดใหญ่ ปล้องยาว โคนโต สีน้ำตาลอมเขียว ทรงกอแคบ ล้มง่าย ออกดอกประมาณเดือนตุลาคม ผลผลิต 15-18 ต้น/ไร่ แหล่งปลูกภาคตะวันออก

อ้อยเคี้ยว
- สุพรรณบุรี 72 ใบขนาดกลางปลายโค้ ลำต้นสีเขียวอมเหลือง ปล้องทรงกระบอก มีร่องเหนือตา ข้อคอดเล็กน้อย อายุเก็บเกี่ยว 9 เดือน ผลผลิตเนื้ออ้อย 6.3 ตันต่อไร่ ความสูง 270 ซม. แหล่งปลูกพื้นที่ดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทรายที่สามารถให้น้ำได้

- สุพรรณบุรี 50 ใบมีขนาดใหญ่ปลายใบโค้ง ลำต้นสีเขียว อมเหลือง ปล้องมีรูปร่างทรงกระบอกค่อนข้างยาว ออกดอก ช่วงเดือนธันวาคม อายุเก็ยเกี่ยว 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อย สูง 4,913 ลิตรต่อไร่ แหล่งปลูกในเขตภาคกลางและ ภาคตะวันตก

2. พันธุ์ที่ได้จากงานวิจัยของกระทรวงอุตสาหกรรม

- พันธุ์ K 76-4 เป็นพันธุ์ที่ได้รับจากการผสมระหว่างพันธุ์ Co 798 กับพันธุ์ Co 775 ให้ผลผลิตอ้อยสด 14 ตันต่อไร่ ความหวาน 12 CCS การแตกกอปานกลาง มี 5-6 ลำต่อกอ ลำต้นตรงสีเหลืองอมเขียว เจริญเติบโตได้เร็ว ทนทานต่อโรคใบขาวและหนอนเจาะลำต้น

- พันธุ์ K 84-69 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ F 143 กับพันธุ์ ROC 1 ให้ผลผลิตอ้อยสด 12-15 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-13 CCS การแตกกอปานกลาง มี 5-6 ลำต่อกอ ลำต้นตรง สีเขียวมะกอก เจริญเติบโตเร็ว ลอกกาบค่อนข้างง่าย
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง และโรคแส้ดำ ปลูกในสภาพดินร่วนเหนียวดีกว่าร่วนทราย

- พันธุ์ K 87-200 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ ROC 1 กับพันธุ์ CP 63-588 ให้ผลิตอ้อยสด 12-14 ตันต่อไร่ ความหวาน 13 CCS การแตกกอน้อย ไว้ตอค่อนข้างดี ออกดอกเล็กน้อย ลำต้นตรงสีเขียวมะกอก ทรงกอแคบ ลำต้นตั้งตรง ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง และโรคแส้ดำ ลอกกาบใบง่าย
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคกอตะไคร้และโรคใบขาว

- พันธุ์ K 88-92 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง 1 กับพันธุ์ PL 310 ผลผลิตอ้อยสด 15 ตันต่อไร่ ความหวาน 12 CCS การแตกกอปานกลาง ลำต้นขนาดปานกลางถึงใหญ่ การไว้ตอดี ออกดอกเล็กน้อย ลำต้นตรงสีเขียวมะกอก ต้านทานต่อโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง เจริญเติบโตเร็ว
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรครากเน่าและโรคใบขาว

- พันธุ์ K 90-77 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 83-74 กับพันธุ์อู่ทอง 1 ผลผลิตอ้อยสด 12-20 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-15 CCS การแตกกอปานกลาง ไว้ตอได้ดี ไม่ออกดอก ลำต้นสีเขียวเข้ม เมื่อถูกแสงจะเป็นสีม่วง ทรงกอค่อนข้างกว้าง เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งได้ดี ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคตะไคร้ โรคยอดเน่า และโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อหนอนเจาะยอดและหนอนเจาะลำต้น
ข้อควรระวัง ลอกกาบใบได้ค่อนข้างยาก

- พันธุ์ K 92-80 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 84-200 กับพันธุ์ K 76-4 ผลผลิตอ้อยสด 16-19 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดีมาก ไม่ออกดอก ลำสีเหลืองอมเขียว ทรงกอค่อนข้างกว้าง เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งปานกลาง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ โรคราสนิม โรคแส้ดำ และหนอนเจาะลำต้น
ข้อควรระวัง งอกช้า อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง โรคยอดบิดและโรคใบจุดวงแหวน หักล้มง่าย กาบใบร่วงหลุดยาก

- พันธุ์ K 92-213 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 84-200 กับพันธุ์ K 84-74 ผลผลิตอ้อยสด 15-18 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ออกดอกเล็กน้อย ลำสีเขียวอมเหลือง งอกเร็ว ทนแล้งปานกลาง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้และโรคแส้ดำ
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง โรคยอดบิดและโรคใบจุดวงแหวน การหักล้มปานกลาง กาบใบร่วงหลุดยาก ควรปลูกในเขตชลประทาน

- พันธุ์ K 93-219 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง 1 กับพันธุ์อีเหี่ยว ผลผลิตอ้อยสด 16-21 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-14 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ไม่ออกดอก ลำต้นสีเขียว งอกเร็ว เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งปานกลาง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ โรคใบจุดเหลือง โรคราสนิม และโรคแส้ดำ ต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้น เก็บเกี่ยวอายุ 12 เดือน
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง การหักล้มปานกลาง กาบใบร่วงหลุดยาก

- พันธุ์ K 93-347 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง 1 กับพันธุ์ K 84-200 ผลผลิตอ้อยสด 16-20 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ไม่ออกดอก ลำสีเขียวอมเหลือง งอกเร็ว เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ และโรคแส้ดำ อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง การหักล้มปานกลาง กาบใบร่วงหลุดยาก

- พันธุ์ K 95-84 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 90-79 กับพันธุ์ K 84-200 ผลผลิตอ้อยสด 16-20 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-14 CCS การแตกกอปานกลาง ลำขนาดใหญ่ (4.1-4.3 ซม.) การไว้ตอดี ไม่ออกดอก ลำสีเขียวมะกอกอมเหลือง เจริญเติมโตเร็ว ทนแล้งปานกลาง ลอกกาบใบง่าย ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ โรคราสนิม และโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อหนอนเจาะลำต้น
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบขาวและโรคยอดบิด

3. พันธุ์ที่ได้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

- พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมเปิดของอ้อยพันธุ์ Kwt # 7 ผลผลิตอ้อยสด 13-16 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-14 CCS การแตกกอปานกลาง มี 5-6 ลำต่อกอ ไว้ตอได้ดี ออกดอกเล็กน้อยถึงปานกลาง ลำต้นสีเขียวเข้ม หากถูกแสงแดดจะเป็นสีม่วงขนาดลำค่อนข้างเล็ก เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งได้ดี เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือร่วนทรายที่ระบายน้ำได้ดี
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและสารกำจัดวัชพืชบางชนิด

- พันธุ์กำแพงแสน 89-200 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ IAC 52-326 กับพันธุ์ Co 331 ผลผลิตอ้อยสด 15-16 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอดี มี 6-8 ลำต่อกอ ขนาดลำปานกลาง ไว้ตอได้ค่อนข้างดี ออกดอกเล็กน้อยถึงปานกลาง ลำต้นตรง สีเขียวอมเหลือง เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง เก็บเกี่ยวอายุ 10-12 เดือน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนและร่วนทราย
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง

- พันธุ์กำแพงแสน 92-0447 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ F 146 กับพันธุ์ B 34164 ผลผลิตอ้อยสด 14-16 ตันต่อไร่ ความหวาน 10-12 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ออกดอกเล็กน้อย ลำต้นโตเร็ว สีเหลืองอมเขียว เจริญเติบโตเร็ว ค่อนข้างทนแล้ง อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง

- พันธุ์กำแพงแสน 91-1336 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมเปิด ของอ้อยพันธุ์ F 146 ผลผลิตอ้อยสด 15-17 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอดี ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ออกดอกปานกลาง ลำต้นซิกแซ็ก สีเขียวอมเหลือง เจริญเติบโตเร็ว ค่อนข้างทนแล้ง อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน
ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง

การเลือกพื้นที่ปลูกอ้อย

พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกอ้อย ควรเป็นที่ดอน หรือที่ลุ่ม ไม่มี น้ำท่วมขัง สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร ห่างไกลจาก แหล่งมลพิษ การคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 60 กิโลเมตร

การเตรียมดิน

การปลูกอ้อย 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 3-4 ปี หรือมากกว่า ดังนั้น การเตรียมดินปลูกจะมีผลต่อ ผลผลิตของอ้อย ตลอดระยะเวลาที่ไว้ตอ โดยทั่วไปหลังจากตัดอ้อยตอปีสุดท้ายแล้ว เกษตรกรมักจะเผาเศษซากอ้อยและตออ้อยเก่าทิ้ง เพื่อสะดวกต่อ การเตรียมดิน เพราะเศษซากอ้อยจะทำให้ล้อรถแทรกเตอร์ลื่น หมุนฟรี และมักจะม้วนติดพันกับผานไถ ทำให้ทำงานได้ไม่สะดวก จาก การทดลองใช้จอบหมุนสับเศษซากใบอ้อยแทนการเผา พบว่า สามารถ ช่วยอนุรักษ์อินทรียวัตถุในดินได้เป็นอย่างดี ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ได้พัฒนาผานจักรสับเศษซากอ้อย คลุกเคล้าลงดินใช้ได้ผลดี และประหยัดกว่าการใช้จอบหมุน หลังจากไถกลบเศษซากอ้อยลงดินแล้ว ควรมีการปรับหน้าดิน ให้เรียบและมีความลาดเอียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 0.3 เปอร์เซนต์) เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลงกรณีฝนตกหนัก และป้องกันน้ำขังอ้อยเป็นหย่อมๆ เมื่อปรับพื้นที่แล้ว ถ้าเป็นแปลง ที่มีชั้นดินดาน ควรมีการใช้ไถระเบิดดินดาน ไถลึกประมาณ 75 เซนติเมตร โดยไถเป็นตาหมากรุก หลังจากนั้น จึงใช้ไถจาน (3 ผาน หรือ 4 ผาน ตามกำลังของแทรกเตอร์) และพรวนตามปกติ แล้วจึงยกร่องปลูกหรือ ถ้าจะปลูกโดยใช้เครื่องปลูกก็ไม่ต้องยกร่อง

ข้อควรระวังในการเตรียมดิน

1. ควรไถเตรียมดิน ขณะดินมีความชื้นพอเหมาะไม่แห้ง หรือเปียกเกินไป
2. ควรเตรียมดินโดยใช้ไถจานสลับกับไถหัวหมู เพื่อไม่ให้ความลึก ของรอยไถอยู่ในระดับเดิมตลอด และการใช้ไถจานตลอด จะทำให้เกิด ชั้นดินดานได้ง่าย
3. ไม่ควรไถพรวนดินจนดินละเอียดเป็นฝุ่น เพราะดินละเอียด เมื่อถูกฝนหรือ มีการให้น้ำจะถูกชะล้างลงไปอุดอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ทำให้การระบายน้ำและอากาศไม่ดี

การเตรียมท่อนพันธุ์อ้อย

* ควรมาจากแปลงพันธุ์ที่มีความสม่ำเสมอ ตรงตามพันธุ์ ปราศจาก โรคและแมลง มีอายุที่เหมาะสม คือประมาณ 8-10 เดือน
* เกษตรกรควรทำแปลงพันธุ์อ้อยไว้ใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ในการซื้อพันธุ์อ้อย และเป็นการวางแผนการปลูกอ้อยที่ถูกต้อง
* มีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่ถูกต้อง เช่น มีการชุบน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง หรือ 52 องศาเซลเซียส ครึ่งชั่วโมง เพื่อป้องกัน โรคใบด่าง โรคตอแคระแกร็น โรคกลิ่นสับปะรด ลดการเป็นโรคใบขาว และโรคกอตะไคร้ อย่างไรก็ตาม ท่อนพันธุ์ที่จะชุบน้ำร้อนควรมีอายุประมาณ 8-10 เดือน เพราะว่า ถ้าใช้ท่อนพันธุ์อายุน้อยกว่า 8 เดือน เปอร์เซ็นต์ ความงอกของอ้อยจะลดลง
* การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10-20 กก.N/ไร่ ก่อนการตัดอ้อย ไปทำพันธุ์ 1 เดือน ช่วยทำให้อ้อยมีความงอก และความแข็งแรงของ หน่ออ้อยดีขึ้น
* อ้อยจากแปลงพันธุ์ 1 ไร่ (อายุ 8-10 เดือน) สามารถ ปลูกขยายได้ 10 ไร่

ฤดูการปลูกอ้อย

การปลูกอ้อยในปัจจุบัน สามารถแบ่งตามฤดูปลูกได้เป็น 2 ประเภท
1. การปลูกอ้อยต้นฝน ซึ่งยังแบ่งเป็น 2 เขต คือ
- ในเขตชลประทาน (20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกอ้อย ทั้งประเทศ) ส่วนใหญ่จะปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
- ในเขตอาศัยน้ำฝน ส่วนใหญ่จะปลูกในช่วงเดือน เมษายนถึงมิถุนายน

2. การปลูกอ้อยปลายฝน (การปลูกอ้อยข้ามแล้ง) สามารถทำได้ เฉพาะในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีปริมาณและการกระจายของฝนดี และดินเป็นดินทรายหรือดินร่วนปนทราย การปลูกอ้อยประเภทนี้จะปลูกประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

วิธีปลูกอ้อย

การปลูกอ้อยต้นฝนในเขตชลประทาน

พื้นที่ปลูกอ้อยประเภทนี้มีประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ใน เขตภาคกลาง และภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิต อ้อยสูง ถ้ามีการจัดการที่ดี และตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผลผลิตอ้อยในเขตนี ้ไม่ควรต่ำกว่า 15 ตันต่อไร่ การปลูกอ้อยในเขตนี้ มีการปรับเปลี่ยนวิธีปลูก เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร เช่น เครื่องปลูก เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องกำจัดวัชพืช และรถเก็บเกี่ยว เป็นต้น

- ถ้าใช้คนปลูกจะยกร่องกว้าง 1.4-1.5 เมตร (เดิมใช้ 1.3 เมตร) วางพันธุ์อ้อยเป็นลำโดยใช้ลำเดี่ยวเกยกันครึ่งลำ หรือ 2 ลำคู่ ตามลักษณะการแตกกอของพันธุ์อ้อยที่ใช้ ตัวอย่าง เช่น ถ้าใช้อ้อยพันธุ์ K 84-200 ซึ่งมีการแตกกอน้อย ควรปลูก 2 ลำคู่ หลังจากวางพันธุ์อ้อย ควรใช้จอบสับลำอ้อยเป็น 2-3 ส่วน แล้วกลบด้วยดินหนาประมาณ 5 เซนติเมตร

- ถ้าใช้เครื่องปลูก หลังจากเตรียมดินแล้ว ไม่ต้องยกร่อง จะใช้ เครื่องปลูกติดท้ายแทรกเตอร์ โดยจะมีตัวเปิดร่อง และช่องสำหรับใส่ พันธุ์อ้อยเป็นลำ และมีตัวตัดลำอ้อยเป็นท่อนลงในร่อง และมีตัวกลบดิน ตามหลัง และสามารถดัดแปลงให้สามารถใส่ปุ๋ยรองพื้น พร้อมปลูกได้เลย ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปลูกทั้งแบบเดี่ยวและแถวคู่ โดยจะปลูกแถวเดี่ยว ระยะแถว 1.4-1.5 เมตร ในกรณีนี้ใช้พันธุ์อ้อยที่แตกกอมาก และจะ ปลูกแถวคู่ระยะแถว 1.4-1.5 เมตร ระยะระหว่างคู่แถว 30-40 เซนติเมตร ในกรณีใช้พันธุ์อ้อยที่แตกกอน้อย ปัจจุบันในประเทศ ออสเตรเลียมีการใช้เครื่องปลูกอ้อยเป็นท่อน (billet planter) โดยใช้รถตัดอ้อยตัดพันธุ์อ้อยเป็นท่อน แล้วนำมาใส่เครื่องปลูกที่สามารถ เปิดร่องและโรยท่อนพันธุ์อ้อยแล้วกลบ เหมือนปลูกพืชที่ใช้เมล็ดอย่างอื่น เช่น ข้าวโพด หรือถั่วต่าง ๆ

การปลูกอ้อยต้นฝนในเขตอาศัยน้ำฝน

พื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทนี้ และเป็นพื้นที่ที่มีความ แปรปรวนในเรื่องผลผลิตสูง และผลผลิตเฉลี่ยของอ้อยต่ำกว่า 10 ตันต่อไร่ มีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปริมาณและการกระจายตัวของฝนไม่ดี และดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การใส่ปุ๋ยก็จะมีความเสี่ยงสูงและ หาจังหวะการใส่ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงยาก (ถ้าดินไม่มีความชื้น พืชก็ดูดปุ๋ยที่ใส่ไปใช้ไม่ได้) แนวทางที่จะพัฒนาผลผลิตอ้อยในเขตนี้ก็คือ ต้องพยายามหาแหล่งน้ำ (น้ำใต้ดิน,ขุดสระเก็บกักน้ำ) เพื่อให้น้ำอ้อยได้ในช่วงวิกฤตและที่สำคัญ คือ ถ้ามีน้ำสามารถปลูกอ้อยได้เร็วโดยไม่ต้องรอฝน (ปลูกได้ก่อนสิ้นเดือน พฤษภาคม) ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของอ้อยในเขตนี้ได้ เพราะอ้อยที่ปลูกล่า (หลังเดือนพฤษภาคม) ทั้งผลผลิต และคุณภาพจะต่ำ เพราะอายุอ้อยยังน้อยช่วงตัดเข้าโรงงาน วิธีการปลูกอ้อยในเขตนี้จะคล้ายกับ ในเขตชลประทาน จะแตกต่างก็เพียงระยะห่างระหว่างร่องในบางพื้นที่จะใช้แคบกว่า คือ ประมาณ 0.9-1.2 เมตร เพราะอ้อยในเขตนี้จะแตกกอ น้อยกว่าการลดระยะแถวลง ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนลำเก็บเกี่ยว อ้อยต่อพื้นที่ได้ และปัจจุบันเกษตรกรในหลายพื้นที่ (เช่น อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เปลี่ยนมาปลูกอ้อย แถวคู่ โดยใช้ระยะระหว่างคู่แถว 1.4-1.5 เมตร และระยะในคู่แถว 30-40 เซนติเมตร และได้ผลผลิตใกล้เคียงกับการปลูกแถวแคบ แต่การจัดการในไร่อ้อยจะสะดวกกว่า เพราะใช้เครื่องจักรเข้าทำงานได้

การปลูกอ้อยปลายฝน (ปลูกข้ามแล้ง)

เป็นการปลูกอ้อยโดยอาศัยความชื้นในดินช่วงปลายฤดูฝน เพื่อให้อ้อยงอกและเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ ไปจนกว่าอ้อยจะ ได้รับน้ำฝนต้นฤดู เป็นวิธีการปลูกอ้อยที่ใช้ได้ผลในเขตปลูกอ้อย อาศัยน้ำฝนบางพื้นที่ที่ดินเป็นดินทราย หรือร่วนปนทราย และที่สำคัญ จะต้องมีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี และมีการ กระจายตัวดี โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดู (กุมภาพันธ์ ถึงเมษายน) จะต้องมีปริมาณฝนที่พอเพียงกับการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วงแรก การเตรียมดินปลูกจะต้องไถเตรียมดินหลายครั้ง จนหน้าดินร่วนซุย (เพื่อตัด capillary pore) เป็นการรักษาความชื้นในดินชั้นล่าง หลังจาก เตรียมดิน ควรรีบยกร่องและปลูกให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันกับความชื้น และควรยกร่องปลูกวันต่อวัน พันธุ์อ้อยที่ใช้ปลูกข้ามแล้ง จะเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแก่ คือ อายุประมาณ 8-10 เดือน เกษตรกรนิยมปลูกอ้อยแบบทั้งลำ โดยจะชักร่องให้ลึก ระยะแถว 1.0-1.3 เมตร และวางลำอ้อยในร่องแล้วใช้จอบสับลำอ้อยเป็น 2-3 ส่วน กลบดินหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร และใช้เท้าเหยียบดิน ที่กลบให้แน่นพอประมาณ เพื่อให้ท่อนพันธุ์อ้อยสัมผัสกับดินชื้นมากที่สุด ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปลูกในพื้นที่นี้มากขึ้น โดยจะตั้งเครื่องปลูกให้ลึก กว่าปกติ

ข้อดีของการปลูกอ้อยด้วยวิธีนี้ คือ
- อ้อยที่ปลูกโดยวิธีนี้จะมีอายุไม่น้อยกว่า 12 เดือน ในช่วงตัดอ้อยเข้าโรงงาน ทำให้ทั้งผลผลิตและคุณภาพ (ความหวาน) ดีกว่าอ้อยที่ปลูกต้นฝน
- ปัญหาเรื่องวัชพืชรบกวนอ้อยในช่วงแรกจะน้อย เพราะหน้าดิน จะแห้งอยู่ตลอดเวลา ในช่วงแรกของการเจริญเติบโต

ข้อเสียของการปลูกอ้อยวิธีนี้ คือ
- ถ้ามีฝนตกหลังปลูกหรือช่วงอ้อยยังเล็ก จะทำให้หน้าดินแน่น อ้อยเจริญเติบโตไม่ดี จำเป็นต้องมีการคราดหน้าดิน เพื่อไม่ให้หน้าดิน แน่นรัดหน่ออ้อย
- ในบางปีฝนต้นฤดูน้อย หรือมาล่า อาจทำให้อ้อยเสียหายได้

การปลูกซ่อมอ้อย

การปลูกอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงนั้น อ้อยปลูกจะต้องมีหลุมขาดหาย น้อยที่สุด และหลุมที่ขาดหายต่อเนื่องกันเกิน 1 หลุม อ้อยหลุมข้างเคียงจะ ไม่สามารถชดเชยผลผลิตได้ ดังนั้น ถ้ามีหลุมขาดหายต่อเนื่องกันมาก ควรมีการปลูกซ่อม และจะต้องปลูกซ่อมภายใน 20 วันหลังปลูก เพื่อให้อ้อยที่ปลูกซ่อมเจริญเติบโตทันอ้อยปลูกปกติ

สำหรับในอ้อยตอ ไม่แนะนำให้ปลูกซ่อม เพราะอ้อยที่ปลูกซ่อม ในอ้อยตอจะมีเปอร์เซ็นต์รอดน้อย และถึงจะรอดก็ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูก กออ้อยข้างเคียงบังแสง ดังนั้น ในอ้อยตอที่มีหลุมตายหรือขาดหายมาก เกินกว่าที่หลุมข้างเคียงจะแตกกอชดเชยได้ ก็ควรจะรื้อตอและปลูกใหม่

การใช้ปุ๋ยเคมีและการจัดการดินอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดต้นทุนการผลิตอ้อย มีหลักปฏิบัติ ดังนี้
1. การใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตรงต่อความต้องการทั้งชนิดและปริมาณ
2. ลดการสูญเสียปุ๋ย
3. ใช้ปุ๋ยราคาต่ำทดแทนปุ๋ยราคาแพง หรือผสมปุ๋ยใช้เอง
4. การปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติเหมาะสม

การใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตรงต่อความต้องการทั้งชนิดและปริมาณ

การใส่ปุ๋ยเคมีให้ได้ถูกต้องตรงกับชนิดดินและความต้องการของอ้อย เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างดี การใส่ธาตุอาหารลงไปในดินโดยที่ดินนั้น ๆ มีธาตุอาหารเพียงพออยู่แล้ว จะเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ ปุ๋ยส่วนเกินความต้องการของอ้อยจะถูกชะล้างลงสู่ บ่อ คู คลอง และแหล่งน้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างรุนแรงทั้งสิ้น สำหรับการปลูกอ้อย ในประเทศไทย พบว่า มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยน้อยรายที่มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้น ถ้าเรามีการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งชนิดและอัตราที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยในไร่อ้อย เป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ย และลด มลภาวะที่จะเกิดจากการปนเปื้อนของปุ๋ยในอากาศ และน้ำ รวมทั้งลด ค่าใช้จ่ายการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศอีกด้วย การจะใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องได้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงลักษณะทางเคมีของดิน เพราะลักษณะทางเคมีของดินมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการ ให้ผลผลิตของอ้อยมากเนื่องจากเป็นลักษณะที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปริมาณธาตุอาหารในดิน ที่จะเป็นประโยชน์แก่อ้อย รวมถึงความเป็นพิษ ของธาตุบางอย่างด้วย ลักษณะทางเคมีของดินที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ได้แก่ ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ความเค็ม ความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวก ความอิ่มตัวของด่าง ปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน และปริมาณของธาตุอาหารต่าง ๆ ในดิน คุณสมบัติทางเคมีของดินเหล่านี้ไม่สามารถบ่งบอกได้ด้วย การสัมผัสหรือดูด้วยตาเปล่า เหมือนคุณสมบัติทางกายภาพ

วิธีประเมินว่า ดินที่ปลูกอ้อยอยู่จะมีคุณสมบัติทางเคมีดีหรือเลวเพียงใด คือ
- การสังเกตอาการขาดธาตุอาหารของอ้อย วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญ และประสบการณ์ มาวินิจฉัยอาการผิดปรกติที่ปรากฎที่ใบและต้นอ้อยว่า เป็นอาการขาดธาตุใด จึงสรุปได้ว่า ดินมีธาตุนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของอ้อย

- การทดลองใส่ปุ๋ยให้กับอ้อย อาจทำในกระถาง หรือในไร่นา โดย เปรียบเทียบกับดินที่ไม่มีการใส่ปุ๋ย ถ้าอ้อยที่ใส่ปุ๋ยชนิดต่างๆ มีการเจริญเติบโตแตกต่างไปจากดินที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย แสดงว่าดินชนิดนั้นยังมีธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอ้อย

- การวิเคราะห์ดิน โดยนำตัวอย่างดินมาตรวจสอบหาค่าต่าง ๆ วิธีนี้เป็นการประเมินที่ถูกต้องแม่นยำกว่าสองวิธีแรก แต่ชาวไร่ไม่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ต้องส่งตัวอย่างดินไปยังหน่วย บริการต่างๆ ซึ่งจะใช้วิธีการทางเคมี วิเคราะห์องค์ประกอบของดิน ในส่วนที่เป็นธาตุอาหาร เพื่อประเมินว่า ดินนั้นขาดธาตุใดบ้าง และควร บำรุงดินอย่างไรจึงจะเหมาะสม

- การวิเคราะห์พืช วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด แต่ปฏิบัติได้ ยุ่งยากกว่า มีวิธีการเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ดิน คือ นำตัวอย่างพืช มาใช้วิธีการทางเคมีแยกองค์ประกอบของเนื้อเยื่อพืช เพื่อให้ทราบว่า มีธาตุอาหารใดสูงต่ำมากน้อยเพียงใด แล้วนำมาเทียบกับค่าวิกฤต แล้วจึง ประเมินเป็นปริมาณธาตุอาหารที่จะต้องใส่ให้แก่อ้อย

วิธีที่เหมาะสมสำหรับชาวไร่อ้อย น่าจะเป็นวิธีวิเคราะห์ดิน ซึ่งมี หน่วยงานรับบริการวิเคราะห์ทั้งทางราชการและเอกชน อีกทั้งมีเครื่องมือ ที่ทันสมัยขึ้น ทำให้วิเคราะห์ได้รวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก การวิเคราะห์ดิน จะมีวิธีดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ

1. การเก็บตัวอย่างดิน การเก็บตัวอย่างดินให้ได้ตัวอย่าง ซึ่งเป็น ตัวแทนของพื้นที่ เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญที่สุด เกษตรกรผู้เก็บ ตัวอย่างดินต้องเข้าใจวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติโดยใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ตัวอย่างดินที่ดี ค่าวิเคราะห์ที่ไม่ผิดพลาด

2. การวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการ ได้จากการนำตัวอย่างดิน ที่เก็บมาส่งไปวิเคราะห์ เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่จะวิเคราะห์ดิน ด้วยวิธีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ค่าวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติทางเคมีของดิน เพื่อความถูกต้องของข้อมูล

3. การแปลความหมายของผลการวิเคราะห์ดิน เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาเทียบเคียงปริมาณการใช้ธาตุอาหารต่าง ๆ ของอ้อย แล้วแปลข้อมูลนั้นว่า ดินที่วิเคราะห์มีความอุดมสมบูรณ์ ต่ำ ปานกลาง หรือสูง

4. การให้คำแนะนำการปฏิบัติหรือใส่ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงดิน จากผลการ แปลความหมายข้างต้น นักวิชาการเกษตร จะให้คำแนะนำแก่ชาวไร่อ้อย เจ้าของตัวอย่างดินว่า หากประสงค์จะปลูกอ้อยให้ได้ผลดี ควรใช้ปูน เพื่อสะเทินกรดในดินอัตรากี่กิโลกรัมต่อไร่ ควรใช้ปุ๋ยสูตรใด อัตราใด และใส่อย่างไร จึงจะให้ผลดีต่อพืชที่ปลูก

การใช้ปุ๋ยในกรณีที่ไม่มีการวิเคราะห์ดิน

- การใช้ปุ๋ยเคมีกัยที่ปลูกในดินเหนียวกับดินร่วน
ดินลักษณะนี้มักจะมีธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอยู่บ้าง จึงเน้นหนักทางด้านธาตุไนโตรเจน ซึ่งสามารถแนะนำเป็นปุ๋ยเคมีสูตร 14-14-14 , 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 40-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ครั้งแรกหลังปลูก 1 เดือน หรือหลังแต่งตอทันที ใส่ครั้งที่ 2 หลังปลูกหรือแต่งตอ 2-3 เดือน ถ้าไม่สะดวกที่จะใช้ปุ๋ยสูตรที่กล่าวมานี้ อาจใช้ปุ๋ยสูตรอื่นที่หา ได้ตามท้องตลาด เช่น 16-8-8, 20-10-10, 16-6-6, 18-6-6, 18-8-8, หรือ 25-7-7 อัตรา 70-90 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งครึ่ง ใส่หลังปลูกหรือหลังแต่งตอทันที ส่วนอีกครึ่งหนึ่งใส่หลังปลูกหรือหลังแต่งตอ 2-3 เดือน ถ้าพื้นที่ปลูกมีน้ำชลประทาน ควรเพิ่มปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ในการใส่ครั้งที่ 2

-การใช้ปุ๋ยเคมีกับอ้อยในดินทราย
ดินทรายมักจะขาดธาตุโพแทสเซียม เนื่องจากถูกชะล้างจาก อนุภาคดินได้ง่ายจึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-12, 13-13-13 หรือ 14-14-21 อัตรา 40-60 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่พร้อมปลูกหรือ หลังแต่งตอ 20 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือใส่ครั้งที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 อัตรา 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 46-0-0 อัตรา 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยใส่หลังปลูกหรือหลังแต่งตอ 60 วัน อาจใช้ปุ๋ยสูตรอื่นที่มีขายตามท้องตลาดได้ เช่น 16-8-14, 15-5-20 หรือ 16-11-14 โดยใส่ในอัตราเดียวกัน คือ 40-60 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับอ้อยที่มีน้ำชลประทานให้เพิ่มปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ในการใส่ครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับในสภาพดินเหนียวและดินร่วน

- การใช้ปุ๋ยแบบเจาะจงเฉพาะพื้นที่
ปััจจุบันได้มีความพยายามให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีให้เฉพาะเจาะจงต่อ ความต้องการของอ้อย และคุณสมบัติของดินมากยิ่งขึ้น ได้พัฒนาระบบ คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตอ้อย โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมดังกล่าวจะสามารถบอกได้ว่าในพื้นที่ปลูกอ้อยของจังหวัดต่าง ๆ หรือจุดที่ทำไร่อ้อยอยู่นั้นอยู่บนกลุ่มชุดดินอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร หรือมีความอุดมสมบูรณ์มากแค่ไหน ประกอบด้วยธาตุอาหารอ้อยอะไรบ้าง และควรจะใส่ปุ๋ยเคมีชนิดไหนบ้างในอัตราเท่าไร เช่น จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นดินทราย อยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 35 และ 35/36 คล้ายคลึงกับดินที่ปลูกอ้อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือชุดดินมาบบอน ชุดดินปราณบุรี และชุดดินโคราช หน่วยแผนที่ดินใน กลุ่มนี้มีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนดินทราย มีสีน้ำตาล สีเหลือง หรือแดง ส่วนมากเกิดจากดินพวกตะกอนลำน้ำ หรือการสลายตัวผุพังของเนื้อหินหยาบ พบบริเวณพื้นที่ดอนที่เป็น ลูกคลื่นลอนลาดถึงลอนชัน เป็นดินลึกมีการระบายน้ำดี คุณสมบัต ิทางกายภาพทำให้ดินดังกล่าวเหมาะสำหรับการปลูกอ้อย อย่างไรก็ตาม ดินกลุ่มนี้มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง ดังนั้น การเพิ่มเติมธาตุอาหารให้แก่อ้อยยังมีความจำเป็น การมีเนื้อดินบน ค่อนข้างเป็นทราย ทำให้ดินอุ้มน้ำได้น้อย อ้อยอาจขาดแคลนน้ำ ได้ในช่วงฝนทิ้งช่วง

การลดการสูญเสียปุ๋ย

ปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้แก่อ้อย โดยเฉพาะไนโตรเจนมีการสูญเสียได้หลายทาง เนื่องจากกระบวนการต่าง ๆ ที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสเองก็ถูกตรึง ให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นประโยชน์ อ้อยดูดไปใช้ได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ใส่ให้แก่อ้อย การสูญเสียของธาตุอาหารที่ใส่ลงไปในดิน โดยที่อ้อยไม่ได้นำไปใช้ ถือได้ว่าเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่ก่อ ประโยชน์ ถ้าสามารถลดการสูญเสียลงได้ จะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเราใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงในดิน ปุ๋ยจะได้รับความชื้นแล้วละลาย พร้อมทั้งแตกตัวเป็นไอออน (NH4+, NO3-) ที่พืชสามารถดูดไป ใช้ได้พร้อมทั้งเกิดการสูญเสียตลอดเวลาโดยกระบวนการต่าง ๆ เช่น

1. กระบวนการชะล้าง (run off) ถ้าให้น้ำมากๆ หรือ ฝนตกชุกจะพัดพาปุ๋ยไหลบ่าออกไปจากแปลง

2. กระบวนการชะปุ๋ยลงลึกเลยรากอ้อย (leaching) เกิดในสภาพที่ฝนตกชุกหรือให้น้ำมาก ๆ และดินมีอัตราการซึมน้ำสูง น้ำจะพาปุ๋ยลงลึกจนเลยรากอ้อยไป

3. กระบวนการระเหิด (volatilization) ไนโตรเจน ในรูปของไอออน NH4+ จะเปลี่ยนรูปเป็นก๊าซแอมโมเนีย ระเหยขึ้นสู่อากาศ

4. กระบวนการระเหย (denitrification) มักเกิดใน สภาพน้ำขัง หรือดินอิ่มตัวด้วยน้ำแล้วขาดออกซิเจน ไนโตรเจน จะ เปลี่ยนรูปเป็นก๊าซลอยไปในอากาศ

5. กระบวนการสูญเสียชั่วคราว (immobilization) เกิดขึ้นมาก ในดินที่มีเศษซาก พืชที่ยังไม่ย่อยสลายมาก ๆ เมื่อซากพืชเหล่านี้อยู่ในดิน จุลินทรีย์จะย่อยสลายแล้วเพิ่มปริมาณตัวเองอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ เพิ่มปริมาณจะดูดดึงเอาไนโตรเจนจากดินและปุ๋ยไปใช้ด้วย จึงทำให้อ้อย ขาดไนโตรเจนต่อเมื่อซากพืชถูกย่อยสลายหมด จุลินทรีย์ขาดอาหารจึงตายลง พร้อมทั้งปลดปล่อยไนโตรเจนออกมาใหม่ จะสังเกตได้ว่า ถ้าปลูกอ้อย ลงไปในดินที่ไถกลบซากพืชใหม่ ๆ อ้อยจะเหลือง หรือแม้กระทั่ง อ้อยตอที่มีใบและเศษซากอ้อยที่ยังไม่สลายตัว ทำให้อ้อยตอไม่เขียว เหมือนอ้อยปลูกเพราะขาดไนโตรเจน จึงแนะนำให้เพิ่มอัตรา ไนโตรเจนในอ้อยตอ

นอกจากกระบวนการทั้ง 5 แล้วไนโตรเจนจากปุ๋ยยังอาจถูกดูดยึดไว้ใน ดินจนอ้อยไม่สามารถดูดมาใช้ได้ จากงานวิจัยของหลาย ๆ ประเทศ พบว่า อ้อยดูดใช้ธาตุอาหารได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของปุ๋ยที่ใส่ลงไป เพื่อเป็นการประหยัดจึงควรลดการสูญเสียปุ๋ย โดยการปฏิบัติดังนี้

1. อย่าใส่ปุ๋ยลงผิวดิน ควรใส่ฝังลงในดินหรือมีการกลบปุ๋ย

2. หลังใส่ปุ๋ยแล้ว อย่าให้น้ำขัง ควรมีการระบายน้ำ

3. ใส่ปุ๋ยในขณะดินมีความชื้น หรือให้น้ำตามทันทีเพื่อให้ปุ๋ยละลาย อ้อยดูดไปใช้ได้ง่าย จะลดการสูญเสียได้มาก

4. อย่าปลูกอ้อยทันทีหลังจากไถกลบใบและเศษซากอ้อย ทิ้งให้ใบย่อยสลายก่อนจึงปลูกอ้อยแล้วใส่ปุ๋ย

5. อย่าให้น้ำมากเกินความจำเป็น

การใช้ปุ๋ยราคาต่ำทดแทนปุ๋ยราคาแพงหรือผสมปุ๋ยใช้เอง

ชาวไร่อ้อยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีราคาแพง ๆ เสมอไป อาจใช้ปุ๋ยอื่น ๆ ที่มีปริมาณธาตุอาหารใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่ามาใช้แทนกันได้ เช่น การใช้ปุ๋ยน้ำจากโรงงานผงชูรส ซึ่งมีไนโตรเจนประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้ในอัตราแนะนำ 600 ลิตรต่อไร่ ก็จะได้ไนโตรเจนถึง 18 กิโลกรัม เท่ากับไนโตรเจนจากปุ๋ย 15-15-15 ถึง 120 กิโลกรัม แต่ราคาจะถูกกว่ามาก การผสมปุ๋ยใช้เอง สามารถประหยัดได้ถึงตันละ 1,000-2,000 บาท และยังมีข้อดีอื่น ๆ อีก เช่น
- ตัดปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน
- มีปุ๋ยใช้ทันเวลา
- มีอำนาจในการต่อรองราคา
- เกิดความรู้ความชำนาญ สามารถปรับสูตรได้
- ได้ใช้ปุ๋ยในราคายุติธรรม
- กรณีเกิดการสูญเสีย จะสูญเสียน้อยกว่า เพราะลงทุนถูกกว่า
- มีทางเลือกเพิ่มขึ้น

การปรับปรุงดินให้มีลักษณะเหมาะสม

การรปรับปรุงดินให้เหมาะสมจะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลงไปได้มาก ขณะที่ปัจจุบันดินที่ใช้ในการทำไร่อ้อย เสื่อมสภาพลงมาก เนื่องมาจากการไถพรวนบ่อยครั้งโดยไม่ถูกวิธี และไม่ถูกจังหวะ การเผาอ้อย การใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ น้ำหนัก มากเหยียบย่ำในแปลง ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติที่จะปรับปรุงดินได้ดังนี้

* การแก้ไขเฉพาะหน้าในกรณีเกิดปัญหาดินดาน
1. ถ้าเกิดดินดานให้ใช้ไถสิ่ว หรือไถเปิดดินดานติดรถแทรกเตอร์ตีน ตะขาบที่มีกำลังสูงลากไถสิ่วคู่ระยะ 1 เมตร ไถลึกประมาณ 75 ซม. การไถควรทำขณะที่ดินแห้งจัด
2. อย่าเตรียมดินโดยการไถพรวนจนละเอียดเป็นฝุ่น
3. เตรียมดินโดยใช้ไถจานกับไถหัวหมูสลับกันบ้าง
4. อย่าเผาใบอ้อย เพราะเป็นการทำให้อินทรียวัตถุ หมดไปอย่างรวดเร็ว
5. ควรเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน โดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือเศษของเหลือจากโรงงานน้ำตาล เช่น ชานอ้อย หรือกากตะกอนหม้อกรอง

* การปรับปรุงดินโดยการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ
การปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบก่อนปลูกอ้อย นิยมปฏิบัติกันมานานแล้วในประเทศ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และแอฟริกา ซึ่งมี วิธีการปฏิบัติดังนี้
1. เมื่อผลผลิตอ้อยตอ 3 ถึง ตอ 4 ลดลง ทำการไถรื้อตอ
2. หว่านเมล็ดโสนอัฟริกัน โสนอินเดีย ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม หรือถั่วแปยี
3. หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน หรือเมื่อถั่วออกดอก ใช้จอบหมุนตีกลบ ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน
4. ทำการเตรียมดินปลูกอ้อยตามปกติ

* การปลูกถั่วเหลืองสลับกับการปลูกอ้อย
การปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนปลูกอ้อยทำให้คุณสมบัติทางเคมี และกายภาพของดินดีขึ้น ช่วยลดความหนาแน่นของดิน เพิ่มปริมาณ อินทรียวัตถุและไนโตรเจน ทำให้ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ รวมทั้งยังช่วย ลดการระบาดของโรคและแมลง พืชที่เหมาะสมที่จะปลูกสลับกับอ้อย คือ ถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และปลดปล่อยให้แก่ดินถึง 49.6 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ไนโตรเจนลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ผลผลิตของถั่วเหลืองแล้ว อ้อยที่ปลูกตามหลังถั่วเหลืองมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

การให้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย

น้ำเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อย หากอ้อยได้รับน้ำอย่างเพียงพอตลอดช่วงการเจริญเติบโต ผลผลิตอ้อยจะได้ไม่ต่ำกว่า 15 ตันต่อไร่ อ้อยต้องการน้ำเพื่อใช้ ในการเจริญเติบโตและสร้างน้ำตาล อ้อยที่ขาดน้ำจะเจริญเติบโตช้า ผลผลิตต่ำ และให้ความหวานต่ำ พื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในเขตชลประทาน อ้อยต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตตลอดปี ประมาณ 1,500 มิลลิเมตร การเพิ่มผลผลิตอ้อยให้สูงขึ้นจึงจำเป็นต้องให้น้ำชลประทานหรือน้ำบาดาลช่วย การให้น้ำแก่อ้อยจะทำให้ความสามารถในการไว้ตอดีขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อีกทางหนึ่ง

ความต้องการน้ำและการตอบสนองต่อการให้น้ำของอ้อย

การผลิตอ้อยให้ได้ผลผลิตสูงนั้น อ้อยจะต้องได้รับน้ำ (น้ำฝน/ชลประทาน) อย่างเพียงพอ ตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโต ความต้องการน้ำของอ้อยจะขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ และช่วงระยะ การเจริญเติบโต ได้แบ่งระยะความต้องการน้ำของอ้อยไว้ 4 ระยะ คือ

1. ระยะตั้งตัว (0-30 วัน) เป็นระยะที่อ้อยเริ่มงอกจนมีใบจริง และเป็นตัวอ่อน ระยะนี้อ้อยต้องการน้ำในปริมาณไม่มาก เพราะรากอ้อยยังสั้นและการคายน้ำยังมีน้อย ดินจะต้องมีความชื้น พอเหมาะกับการงอก ถ้าความชื้นในดินมากเกินไปตาอ้อยจะเน่า ถ้าความชื้นในดินน้อยเกินไป ตาอ้อยจะไม่งอก หรือถ้างอกแล้ว ก็อาจจะเหี่ยวเฉาและตายไป ในสภาพดินที่เมื่อแห้งแล้ว ผิวหน้าฉาบเป็นแผ่นแข็ง ก็อาจทำให้หน่ออ้อยไม่สามารถแทงโผล่ขึ้นมาได้ ดังนั้น ในระยะนี้การให้น้ำอ้อยควรให้ในปริมาณน้อยและบ่อยครั้ง เพื่อทำให้สภาพความชื้นดินเหมาะสม

2. ระยะเจริญเติบโตทางลำต้น (31-170 วัน) ระยะนี้รากอ้อยเริ่มแพร่กระจายออกไปทั้งในแนวดิ่งและแนวระดับ เป็นระยะที่อ้อยกำลังแตกกอและสร้างปล้องเป็นช่วงที่อ้อยต้องการน้ำมาก ถ้าอ้อยได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอในระยะนี้ จะทำให้อ้อยมีจำนวน ลำต่อกอมาก ปล้องยาว ทำให้อ้อยมีลำยาว และผลผลิตสูง การให้น้ำ จึงต้องให้บ่อยครั้ง

3. ระยะสร้างน้ำตาลหรือช่วงสร้างผลผลิต (171-295 วัน) ช่วงนี้พื้นที่ใบอ้อยที่ใช้ประโยชน์ได้จะน้อยลง อ้อยจะคายน้ำน้อยลง และตอบสนองต่อแสงแดดน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อย ให้เฉพาะช่วงที่อ้อยเริ่มแสดงอาการขาดน้ำ

4. ระยะสุกแก่ (296-330 วัน) เป็นช่วงที่อ้อยต้องการน้ำน้อย และในช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์ ควรหยุดให้น้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำ ในลำต้นอ้อยและบังคับให้น้ำตาลทั้งหมดในลำอ้อยเปลี่ยนเป็นน้ำตาลซูโครส

ความต้องการน้ำของอ้อยในแต่ละช่วงระยะการเจริญเติบโต ข้อพิจารณาในการให้น้ำแก่อ้อย

การพิจารณาว่าเมื่อใดควรจะถึงเวลาให้น้ำแก่อ้อย และจะให้น้ำครั้งละ ปริมาณเท่าใด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ
- ระยะการเจริญเติบโต ความต้องการน้ำของอ้อย ปริมาณน้ำที่ให้แก่อ้อยจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโต อัตราความต้องการใช้น้ำ ความลึกที่รากหยั่งลงไปถึง อ้อยจะ เจริญเติบโตได้ดีก็ต่อเมื่อความชื้นในดินเหมาะสม ถ้ามีความชื้นในดินสูงหรือต่ำมากเกินไป อ้อยจะเจริญเติบโตผิดปกติ เมื่อดินมีน้ำมากจะทำให้ขาดออกซิเจน โดยทั่วไปถ้าในดินมีอากาศอยู่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ รากอ้อยจะชะงักการดูดธาตุอาหาร น้ำและออกซิเจน เป็นเหตุให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ถ้าขาดน้ำใบจะห่อในเวลากลางวัน

- คุณสมบัติทางกายภาพของดิน เช่น ความสามารถของ ดินในการซับน้ำ ดินต่างชนิดกันย่อมมีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ ไม่เหมือนกันสำหรับดินที่สามารถซับน้ำไว้ได้มากไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยครั้งเหมือนดินที่มีเนื้อหยาบและซับน้ำได้น้อย ดินเหนียวจะมีความชื้นอยู่มากกว่าดินทราย ดังนั้น หลักการให้น้ำแก่ อ้อยที่ถูกต้อง คือ ให้น้ำตามที่อ้อยต้องการ ส่วนปริมาณน้ำที่จะให้ แต่ละครั้งมากน้อยเท่าไร และใช้เวลานานเท่าใด ย่อมขึ้นอยู่กับ คุณสมบัติทางกายภาพของดินซึ่งไม่เหมือนกัน

- สภาพลมฟ้าอากาศ อุณหภูมิของอากาศ การพิจารณา การให้น้ำแก่อ้อยจะต้องพิจารณาถึง อุณหภูมิและสภาพลมฟ้าอากาศด้วย ในช่วงที่มีอุณหภูมิสูงอ้อยจะคายน้ำมาก ความต้องการน้ำจะมากตามไปด้วย จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยขึ้น ในช่วงที่มีฝนตกควรงดให้น้ำ และหาทาง ระบายน้ำแทน เพื่อให้ดินมีความชื้นและอากาศในดินเหมาะสม ในช่วงฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำช่วยจะทำให้การเจริญเติบโตของอ้อยดีขึ้น

ระบบการให้น้ำอ้อย

การเลือกระบบการให้น้ำอ้อยที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของดิน ความลาดเอียงของพื้นที่ ต้นทุน และความพร้อมในการนำน้ำมาใช้ รวมทั้งความพร้อมในด้านแรงงาน และอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ในการให้น้ำ ระบบการให้น้ำอ้อย ในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ทั้งในและต่างประเทศมีดังนี้

1. การให้น้ำแบบร่อง (Furrow irrigation)
เป็นระบบการให้น้ำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เพราะเป็นระบบที่ใช้ต้นทุนต่ำ สะดวกและง่ายในการปฏิบัติ แต่ก็ม ีข้อจำกัดอยู่ที่แปลงปลูกอ้อยจะต้องค่อนข้างราบเรียบ โดยมีความลาดชัน ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพของการให้น้ำแบบร่องจะผันแปร อยู่ระหว่าง 30-90 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การให้น้ำได้โดยการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยปกติการให้น้ำ ระบบนี้จะมีร่องน้ำที่หัวแปลงหรืออาจใช้ท่อหรือสายยางที่มีช่องเปิดให้น้ำไหล เข้าร่องอ้อยแต่ละร่อง เมื่อน้ำไหลไปจนสุดร่องแล้ว อาจยังคงปล่อยน้ำ ต่อไปอีกเพื่อให้น้ำซึมลงในดินมากขึ้นน้ำ ที่ท้ายแปลงอาจระบายออก หรือเก็บรวบรวมไว้ในบ่อพักเพื่อนำกลับมาใช้อีก ในแปลงอ้อยที่มี ความลาดชันน้อยมาก (ใกล้ 0 เปอร์เซ็นต์) สามารถจัดการให้น้ำโดย ไม่มีน้ำเหลือทิ้งท้ายแปลงได้ โดยปรับสภาพพื้นที่ให้มีความลาดชันน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์และทำคันกั้นน้ำตลอดท้ายแปลง น้ำที่ให้ไปสุดท้ายแปลง จะถูกดักไว้โดยคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำมีเวลาซึมลงในดินมากขึ้น วิธีนี้จะ เหมาะกับดินที่มีการซึมน้ำช้า และน้ำที่จะให้มีจำกัด แม้ว่าการให้น้ำระบบร่องจะใช้ได้กับพื้นที่มีความลาดเอียงไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับพื้นที่ที่มีความลาดเอียงไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับความยาวร่องที่ใช้มีตั้งแต่ 25 เมตร ถึง 1,000 เมตร รูปร่าง ของร่องและอัตราการไหลของน้ำ ขึ้นกับชนิดของดินและความลาดชัน ของพื้นที่ สำหรับดินที่มีความสามารถ ในการซึมน้ำได้ดี ควรใช้ร่องปลูกรูปตัว ‘V' และมีสันร่องกลาง เพื่อให้น้ำไหลได้เร็วและลดการสูญเสียน้ำ จาก การซึมลึกในแนวดิ่ง ในทางกลับกันสำหรับดินที่มีการซึมน้ำเลว ควรใช้ ร่องที่มีก้นร่องกว้างและสันร่องแคบ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสของดินกับน้ำ ทำให้น้ำซึมลงดินได้ทั่วถึง

2. การให้น้ำแบบพ่นฝอย (Sprinkler irrigation)
การให้น้ำแบบนี้ใช้ได้กับทุกสภาพพื้นที่และทุกชนิดดิน ประสิทธิภาพ ในการใช้น้ำอาจเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ได้ ถ้ามีการจัดการที่ถูกต้องและ เหมาะสม การให้น้ำแบบนี้มีหลายรูปแบบ เช่น
- สปริงเกอร์หัวใหญ่ ต้องใช้ปั๊มน้ำแรงดันสูงและมีทางวิ่งถาวร ในแปลงอ้อย
- สปริงเกอร์แบบหัวเล็กเคลื่อนย้ายได้ ใช้สำหรับอ้อยปลูกหรือ อ้อยตออายุน้อย และปริมาณน้ำที่ให้มีจำกัด มีข้อเสียคือ ต้องใช้ แรงงานมากในการเคลื่อนย้าย และไม่สามารถใช้กับอ้อยสูงได้
- สปริงเกอร์แบบหัวเล็กบนแขนระนาบ (Lateral move irrigators) ข้อดีคือสามารถให้น้ำในพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้แรงงานน้อย แต่มีข้อเสียคือใช้ต้นทุนสูงสำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือ
- สปริงเกอร์แบบหัวเล็กขนแขนที่เคลื่อนเป็นวงกลมรอบจุดศูนย์กลาง (Centre-pivot irrigators)

3. การให้น้ำแบบน้ำหยด (Drip irrigation)
เป็นวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพในการให้น้ำสูงสุด โดยสามารถให้น้ำเฉพาะรอบ ๆ รากพืช และสามารถให้ปุ๋ยและสารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกับน้ำได้เลย ปัจจุบันมีใช้กันอยู่ 2 แบบ คือ
- ระบบน้ำหยดบนผิวดิน (Surface system) ระบบนี้จะวางสายให้น้ำบนผิวดินในแนวกึ่งกลางร่อง หรือข้าร่อง อาจวางทุกร่องหรือร่องเว้นร่อง
- ระบบน้ำหยดใต้ผิวดิน (Subsurface system) ระบบนี้จะต้องวางสายให้น้ำก่อนปลูก โดยปกติจะฝังลึกประมาณ 25-30 ซม. และสายให้น้ำจะอยู่ใต้ท่อนพันธุ์อ้อยประมาณ 10 ซม.

อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00711
ราสีชมพู|ราดำ|ราแป้ง|โรครา|เชื้อรา|โรคเชื้อรา|ป้องกันเชื้อรา|แก้โรครา|Dating|หาแฟน|ปุ๋ย