หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องน่ารู้ของผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ

เรื่องน่ารู้ของผักกาดน้ำ : ยาเอ็น ยากระดูก ยานิ่ว

ผักกาดน้ำ...ผักพื้นบ้านไทย สมุนไพรในสากล

ผักกาดน้ำขึ้นอยู่ในที่ชุ่มชื้นทั่วๆ ไป พบได้ในหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เอเชีย เรียกว่าเกือบหมดทั้งโลก ยกเว้นในเขตหนาวเท่านั้นกระมังที่ไม่มีผักกาดน้ำ ในเมืองไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค คนในแถบภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือหลายพื้นที่กินผักกาดน้ำเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ผักกาดน้ำอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี และโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย เป็นยาระบายอ่อนๆ โดยจะกินช่อดอกอ่อนๆ ใบอ่อนๆ (ต้องรีบเก็บตอนที่เป็นใบอ่อนจริงๆ เพราะใบผักกาดน้ำแก่เร็ว) แต่ในระยะหลังๆ ไม่ค่อยพบผักกาดน้ำในธรรมชาติบ่อยนัก ส่วนคนที่รู้จักกินผักกาดน้ำเป็นผักก็มีจำนวนน้อยลงมาก วัฒนธรรมการกินผักกาดน้ำเป็นผักนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั้งโลกที่มีเจ้าต้นผักกาดน้ำขึ้นอยู่ มีทั้งกินเป็นผักสดๆ และนำไปปรุงสุก นอกจากกินเป็นผักแล้ว ยังใช้ผักกาดน้ำในการรักษาโรคหลายชนิดกันอย่างกว้างขวางมายาวนานนับพันปี ถือเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงชนิดหนึ่ง และได้รับการยอมรับในการใช้เป็นสมุนไพรในเภสัชตำรับของเยอรมัน(German Commission E) สำหรับรักษาอาการไอและหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ และใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ แทบจะกล่าวได้ว่าผักกาดน้ำเป็นสมุนไพรที่มีการนำไปใช้และศึกษาวิจัยกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง แต่ผักกาดน้ำก็เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ผักหญ้าสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ไม่มีหน่วยงานไหนมาส่งเสริมสนับสนุนให้คนใช้กันมากนัก ผักกาดน้ำจึงนับวันแต่จะหายไปไม่ว่าจะใช้เป็นผักหรือใช้เป็นยาก็ตาม

ผักกาดน้ำ…ยาขับปัสสาวะที่นักศึกษาเภสัชศาสตร์รู้จักดี

ครั้งแรกที่รู้ว่าผักกาดน้ำเป็นยา ก็ครั้งเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในวิชาพฤกษศาสตร์อันเป็นวิชาที่เหมือนฝันร้ายของเภสัชกรหลายคน รวมถึงคนจบการศึกษาออกมาแล้ว เพราะอาจารย์ที่สอนวิชานี้ไม่ว่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยไหน ต่างมีพฤติกรรมการออกข้อสอบคล้ายๆ กันคือ ชอบไปเอาต้นสมุนไพรที่ผิดปกติมาออกข้อสอบ ต้นสมุนไพรที่ทุกคนเห็นและจำได้ทันทีอย่างผักกาดน้ำไม่มีทางได้เป็นข้อสอบ เพราะผักกาดน้ำเป็นสมุนไพรพื้นๆ ที่เภสัชกรแทบทุกคนจำได้ว่ามันมีสรรพคุณ “ขับปัสสาวะ” เป็นสรรพคุณติดป้ายแน่นหนามากับผักกาดน้ำที่ไม่ใช่เพียงเภสัชกรเท่านั้นที่รู้กันดี แต่หมอแผนไทยทุกคนจนถึงหมอยาพื้นบ้านไทยในทุกภาค หมอยาจีน คนขายสมุนไพรในร้านขายวัตถุดิบสมุนไพรต่างก็มีความรู้นี้อย่างแน่นหนาเช่นกัน โดยหมอยาทั้งหลายจะใช้ทั้งต้น ก้านใบ ต้มน้ำรับประทานเป็นยาแก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว (ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย) แก้หนองใน ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน (ในน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนในที่ขายกันอย่างแพร่หลายนั้นมีผักกาดน้ำผสมอยู่ด้วย) ซึ่งการศึกษาทางเภสัชวิทยาสมัยใหม่พบว่า ผักกาดน้ำมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ละลายก้อนนิ่วในไต ลดความดันโลหิต ซึ่งสนับสนุนการใช้ของหมอยาไทยและหมอยาจีน

ผักกาดน้ำ…ยารักษาเอ็น รักษากระดูก

การใช้ผักกาดน้ำในการเป็นยารักษาอาการอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อ อาการปวดตึงที่คอ หลัง เอว แขน ขา การหกล้มฟกช้ำ ข้อเท้าแพลง จนเดินเขยกหรือเดินไม่ได้ รวมไปถึงการรักษาอาการกระดูกหัก กระดูกแตกนั้น ได้รู้เมื่อไปตามเก็บความรู้กับหมอยาไทยใหญ่ ซึ่งความรู้ในการใช้ผักกาดน้ำหรือที่ไทยใหญ่เรียกว่า หญ้าเอ็นยืด นั้น (ไทยใหญ่มักเรียกชื่อสมุนไพรตามสรรพคุณทางยาเป็นส่วนใหญ่) แม้แต่เด็กๆ ก็รู้ว่าหญ้าเอ็นยืดมีสรรพคุณในการรักษาเอ็น รักษากระดูก ดังนั้นเวลาหกล้มข้อเท้าแพลงเด็กไทยใหญ่จะไปเก็บหญ้าเอ็นยืดมาทุบๆ ให้น้ำออกแล้วพอกบริเวณที่ข้อเท้าแพลงนั้น เชื่อกันว่าหญ้าเอ็นยืดจะทำให้เส้นเอ็นคลายตัวบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ นอกจากคนไทยใหญ่แล้ววัฒนธรรมการใช้หญ้าเอ็นยืดรักษาอาการเคล็ดขัดยอกนี้ยังเป็นที่แพร่หลายในบรรดาหมอเมือง ชาวล้านนาทั้งหลายด้วย โดยลูกประคบหรือยาจู้ของหมอเมืองนอกเหนือไปจากไพลและขมิ้นเหมือนลูกประคบทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีสมุนไพรหลักตัวหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ หญ้าเอ็นยืด

นอกจากจะใช้เป็นยาแก้อาการอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อแล้ว หมอยาไทยใหญ่ยังใช้หญ้าเอ็นยืดเป็นยารักษากระดูกหัก กระดูกแตก โดยใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น หญ้าติ๊ดสืบ (หญ้าถอดปล้อง) ตะไคร้ บอระเพ็ด เครือป๊กตอ (เถาวัลย์ปูน) เป็นต้น

การใช้ผักกาดน้ำในการรักษาอาการเคล็ดขัดยอก กระดูกหักกระดูกแตกนี้ มิใช่เฉพาะหมอเมืองและหมอยาไทยใหญ่เท่านั้นที่ใช้กัน หมอยาพื้นบ้านในหลายประเทศ ต่างก็ใช้ผักกาดน้ำในสรรพคุณนี้อย่างทั่วถึง โดยมีการศึกษาจนเป็นทียอมรับแล้วว่า ผักกาดน้ำมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาบาดแผลจากการที่ทำให้เลือดหยุดไหลและช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ ทั้งยังช่วยลดการอักเสบ ลดการซึมผ่านของหลอดเลือดฝอย (ช่วยลดอาการบวม) อีกด้วย

ผักกาดน้ำ…ยารักษาโรคผิวหนัง

หมอยาพื้นบ้านไทยยังนิยมใช้ผักกาดน้ำเป็นยารักษาอาการคันจากการถูกต้นตำแย ใช้แก้พิษเนื่องจากผึ้งต่อยหรือแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง โดยการตำใบของผักกาดน้ำพอกบริเวณที่มีอาการแล้วเปลี่ยนยาบ่อยๆ เชื่อว่าการใช้ผักกาดน้ำรักษาแผลจะทำให้ไม่เกิดแผลเป็น ซึ่งพออธิบายได้ว่าเนื่องจากผักกาดน้ำมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดอาการแพ้

ผักกาดน้ำเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงมาก ในต่างประเทศมีการใช้ผักกาดน้ำเป็นสมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ (Irritable Bowel Syndrome) ทั้งยังใช้เป็นสมุนไพรเพื่อการเลิกบุหรี่ ใช้รักษาอาการไหม้จากการถูกแสงแดด ถูกลม โดยใช้น้ำคั้นจากใบทา ใช้ทำเป็นครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวลบรอยเหี่ยวย่น รักษาโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น อาการอักเสบของผิวหนังในทารกที่เราเรียกว่า "ผ้าอ้อมกัด" โดยใช้ใบผักกาดน้ำแห้งแช่ในน้ำมันแล้วนำไปตากแดดเพื่อสกัดสารออกมาจากใบ นำน้ำมันมาใช้ทาบริเวณที่เกิดอาการ


เราหวังว่า ทุกท่านได้ประโยชน์ที่อ่านบทความนี้ตามพอสมควร
ขอความกรุณาแสดงความเห็น ให้เราด้วยนะครับ เพือปรับปรุงบทความต่อๆไป ขอบคุณครับ
อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00778

วิธีทำนาหว่าน

วิธีทำนาหว่าน

การทำนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยการหว่านเมล็ดลงไปในนาที่เตรียมพื้นที่ไว้แล้วโดยตรง เป็นวิธีการที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประหยัดแรงงานและเวลา

การทำนาหว่าน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1. นาหว่านข้าวแห้ง เป็นการหว่านเมล็ดข้าวเพื่อคอยฝน และมีชื่อเรียกปลีกย่อยไปตามวิธีปฏิบัติ คือ

- การหว่านสำรวย เป็นการหว่านในสภาพดินแห้ง เนื่องจากฝนยังไม่ตก โดยหลังจากการไถแปรครั้งสุดท้ายแล้วหว่านเมล็ดข้าวลงไปโดยไม่ต้องคราดกลบ เมล็ดจะตกลงไปอยู่ในระหว่างก้อนดิน เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวจะงอกขึ้นมาเป็นต้น

- การหว่านหลังขี้ไถ เป็นการหว่านในสภาพที่มีฝนตกลงมา และน้ำเริ่มจะขังในกระทงนา เมื่อไถแปรแล้วก็หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวตามหลัง แล้วคราดกลบทันที

2. นาหว่านข้าวงอก หว่านน้ำตมหรือหว่านเพาะเลย โดยการนำเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถูกเพาะให้งอก มีขนาดตุ่มตา (มีรากงอกประมาณ 1-2 มิลลิเมตร) แล้วจึงหว่านลงในกระทงนา ซึ่งมีการเตรียมดินจนเป็นเทือก แยกเป็น

- การหว่านหนีน้ำ ทำในนาน้ำฝน เนื่องจากการหว่านข้าวแห้งหรือทำการตกกล้าไม่ทัน เมื่อฝนมามาก หลังจากเตรียมดินเป็นเทือกดีแล้ว ก็หว่านข้าวที่เพาะจนงอก ลงไปในกระทงนาที่มีน้ำขังอยู่มากจึงเรียกว่า นาหว่านน้ำตม

- นาชลประทาน หรือนาในเขตที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ การทำนาในสภาพนี้มักจะให้ผลผลิตสูง หลังจากเตรียมดินเป็นเทือกดีแล้วระบายน้ำออกหรือให้เหลือน้ำขังบนผืนนาน้อยที่สุด นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่งอกขนาด “ตุ่มตา” หวานลงไป แล้วคอยดูแลควบคุมการให้น้ำ มักจะเรียกการทำนาแบบนี้ว่า “การทำนาน้ำตมแผนใหม่”

การทำนาหว่านน้ำตม

การทำนาหว่านน้ำตมที่จะให้ได้ผลดีนั้น จะต้องปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ มีคันนาล้อมรอบและสามารถควบคุมน้ำได้ การเตรียมดินก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมดินในนาดำ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรปล่อยให้เมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในนามีเวลางอกเป็นต้นข้าว เพื่อลดปัญหาข้าวเรื้อ หรือข้าววัชพืชในนา แล้วจึงไถดะ แล้วปล่อยน้ำเข้าพอให้ดินชุ่มอยู่เสมอ ประมาณ 5-10 วัน เพื่อให้เมล็ดวัชพืช งอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเสียก่อนจึงปล่อยน้ำเข้านา แล้วทำการไถแปรและคราด หรือใช้ลูกทุบตี จะช่วยทำลายวัชพืชได้ หากทำเช่นนี้ 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 4-5 วัน หลังจากไถดะไถแปร และคราดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขังน้ำไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกหญ้าที่เป็นวัชพืชน้ำ เช่น ผักตบ ขาเขียด ทรงกระเทียม ผักปอดและพวกกกเล็ก เป็นต้น งอกเสียก่อน จึงคราดให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ลูกหญ้าจะหลุดลอยไปติดคันนาใต้ทางลม ก็จะสามารถช้อนออกได้หมด เป็นการทำลายวัชพืชวิธีหนึ่ง เมื่อคราดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับเทือกให้สม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ใช้ลูกทุบหรืออีขลุก ย่ำฟางข้าวให้จมลงไปในดินแทนการไถ หลังจากย่ำแล้วควรเอาน้ำแช่ไว้ ให้ฟางเน่าเปื่อยจนหมดความร้อนเสียก่อน อย่างน้อย 3 อาทิตย์ แล้วจึงย่ำใหม่ เพราะแก๊สที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของฟางจะเป็นอันตรายต่อต้นข้าว จะทำให้รากข้าวดำไม่สามารถหาอาหารได้ หลังจากนั้นจึงระบายน้ำออกเพื่อปรับเทือก

การปรับพื้นที่นาหรือการปรับเทือกให้สม่ำเสมอ จะทำให้ควบคุมน้ำได้สะดวก การงอกของข้าวดีเติบโตสม่ำเสมอ เพราะเมล็ดข้าวมักจะตายถ้าตกลงไปในแอ่งหรือหลุมที่มีน้ำขัง เว้นแต่กรณีดินเป็นกรดจัดละอองดินตกตะกอนเร็วเท่านั้นที่ต้นข้าวสามารถขึ้นได้ แต่ถ้าแปลงใหญ่เกินไปจะทำให้น้ำเกิดคลื่น ทำให้ข้าวหลุดลอยง่าย และข้าวรวมกันเป็นกระจุก ไม่สม่ำเสมอ นอกจากนั้นการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ยังช่วยควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการทำนาหว่านน้ำตมอีกด้วย การปรับพื้นที่ทำเทือก ควรทำก่อนหว่านข้าวหนึ่งวัน เพื่อให้ตะกอนตกดีเสียก่อน แล้วแบ่งกระทงนาออกเป็นแปลงย่อยๆ ขนาดกว้าง 3-5 เมตร ยาวตามความยาวของกระทงนา ทั้งนี้แล้วแต่ความสามารถของคนหว่าน ถ้าคนหว่านมีความชำนาญอาจแบ่งให้กว้าง การแบ่งอาจใช้วิธีแหวกร่อง หรือใช้ไหกระเทียมผูกเชือกลากให้เป็นร่องก็ได้ เพื่อให้น้ำตกลงจากแปลงให้หมด และร่องนี้ยังใช้เป็นทางเดินระหว่างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย และพ่นสารเคมีได้ตลอดแปลง โดยไม่ต้องเข้าไปในแปลงย่อยได้อีกด้วย

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

- ตรวจความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ พิจารณาว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นหรือเมล็ดวัชพืชปนหรือไม่ ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย รูปร่างเมล็ดมีความสม่ำเสมอ ถ้าพบว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นหรือเมล็ดวัชพืชปน หรือมีโรค แมลงทำลายก็ไม่ควรนำมาใช้ทำพันธุ์

- การทดสอบความงอก โดยการนำเมล็ดข้าว จำนวน 100 เมล็ด มาเพาะเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ ความงอก อาจทำ 3-4 ซ้ำเพื่อความแน่นอน เมื่อรู้ว่าเมล็ดงอกกี่เปอร์เซ็นต์จะได้กะปริมาณพันธุ์ข้าวที่ใช้ได้ถูกต้อง

- คัดเมล็ดพันธุ์ให้ได้เมล็ดที่แข็งแรง มีน้ำหนักเมล็ดดีที่เรียกว่าข้าวเต็มเมล็ด จะได้ต้นข้าวที่เจริญเติบโตแข็งแรง

อัตราเมล็ดพันธุ์

อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการทำนาหว่านน้ำตม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ ถ้ามีการเตรียมดินไว้ดี มีเทือกอ่อนนุ่ม พื้นดินปรับได้ระดับ เมล็ดที่ใช้เพียง 7-8 กิโลกรัมหรือ 1 ถังต่อไร่ ก็เพียงพอที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง แต่ถ้าพื้นที่ปรับได้ไม่ดี การระบายน้ำทำได้ยาก รวมถึงอาจมีการทำลายของนก หนู หลังจากหว่าน เมล็ดที่ใช้หว่านควรมากขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสีย ดังนั้นเมล็ดที่ใช้ควรเป็นไร่ละ 15-20 กิโลกรัม

การหว่าน

ควรหว่านให้สม่ำเสมอทั่วแปลง ข้าวจะได้รับธาตุอาหาร แสงแดด และเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน ทำให้ได้ผลผลิตสูง โดยเดินหว่านในร่องแคบๆ ที่ทำไว้ เมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านแต่ละแปลงย่อย ควรแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามขนาดและจำนวนแปลงย่อย เพื่อเมล็ดข้าวที่หว่านลงไปจะได้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ในนาที่เป็นดินทรายมีตะกอนน้อยหลังจากทำเทือกแล้วควรหว่านทันที กักน้ำไว้หนึ่งคืนแล้วจึงระบายออก จะทำให้ข้าวงอกและจับดินดียิ่งขึ้น

การดูแลรักษา

การทำนาหว่านน้ำตม จะต้องมีการดูแลให้ต้นข้าวงอกดีโดยพิจารณาถึง

1. พันธุ์ข้าว การใช้พันธุ์ข้าวนาปีซึ่งมีลำต้นสูง ควรจะทำการหว่านข้าวให้ล่า ให้อายุข้าวจากหว่านถึงออกดอกประมาณ 70-80 วัน เนื่องจากความยาวแสงจะลดลง จะทำให้ต้นข้าวเตี้ยลง เนื่องจากถูกจำกัดเวลาในการเจริญเติบโตทางต้นและทางใบ ทำให้ต้นข้าวแข็งขึ้นและไม่ล้มง่าย สำหรับข้าวที่ไม่ไวแสงหรือข้าวนาปรังไม่มีปัญหา เพียงแต่กะระยะให้เก็บเกี่ยวในระยะฝนทิ้งช่วง หรือหมดฝน หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้าวบางพันธุ์ เช่น ปทุมธานี 1 ออกดอกในฤดูหนาวเป็นต้น

2. ระดับน้ำ การจะผลผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตสูงการควบคุมระดับน้ำเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มหว่านจนข้าวแตกกอ ระดับน้ำไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร เมื่อข้าวแตกกอเต็มที่ ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องสูบน้ำบ่อยๆ แต่ไม่ควรเกิน 10 เซนติเมตร เพราะถ้าระดับน้ำสูงจะทำให้ต้นข้าวที่แตกกอเต็มที่แล้ว เพิ่มความสูงของต้น และความยาวของใบ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นเหตุให้ต้นข้าวล้ม เกิดการทำลายของโรคและแมลงได้ง่าย

3. การใส่ปุ๋ย ต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่ข้าวต้องการ จำนวนที่พอเหมาะ จึงจะให้ผลคุ้มค่า

4. การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช วัชพืชเป็นปัญหาใหญ่ในการทำนาหว่าน้ำตม การปรับระดับพื้นที่ให้ราบเรียบสม่ำเสมอและการควบคุมระดับน้ำจะช่วยลดประชากรวัชพืชได้ส่วนหนึ่ง ถ้ายังมีวัชพืชในปริมาณสูงจำเป็นต้องใช้สารเคมี

5. การป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูข้าว ปฏิบัติเหมือนการทำนาดำ


เราหวังว่า ทุกท่านได้ประโยชน์ที่อ่านบทความนี้ตามพอสมควร
ขอความกรุณาแสดงความเห็น ให้เราด้วยนะครับ เพือปรับปรุงบทความต่อๆไป ขอบคุณครับ
อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00776