หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะของข้าว

ลักษณะของข้าว



เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และการให้ผลิตผลสูงของต้นข้าวในท้องที่ที่ปลูก การทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเสมอๆ ตลอดถึงคุณภาพของเมล็ดข้าว ฉนั้น พันธุ์ข้าวที่ดีจะต้องมีลักษณะเหล่านี้ดี และเป็นที่ต้องการของชาวนา และตลาด ลักษณะที่สำคัญๆ มีดังนี้

๑. ระยะพักตัวของเมล็ด (seed dormancy)

เมล็ดที่เก็บเกี่ยวมาจากต้นใหม่ๆ เมื่อเอาไปเพาะมักจะไม่งอกทันที มันจะต้องใช้เวลาสำหรับฟักตัวอยู่ระยะหนึ่ง ประมาณ ๑๕ - ๓๐ วัน จึงจะมีความงอก ถึง ๘๐ หรือ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาหลังจากเก็บเกี่ยวที่เมล็ดไม่งอกนี้ เรียกว่า ระยะฟักตัวของเมล็ด ข้าวพวกอินดิคา แทบทุกพันธุ์มีระยะฟักตัวของเมล็ด แต่ข้าวพวกจาปอนิคานั้น ไม่มีระยะฟักตัว ระยะฟักตัวมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเป็นประโยชน์สำหรับชาวนาในเขตร้อน ซึ่งมีฝนตกและมีความชื้นของอากาศสูง ในฤดูเก็บเกี่ยว เพราะข้าวที่ไม่มีระยะฟักตัวของเมล็ด จะงอกทันทีเมื่อได้รับความชื้น หรือเมล็ดเปียกน้ำฝน ส่วนข้าวที่มีระยะฟักตัว มันจะไม่งอกในสภาพดังกล่าว ซึ่งชาวนาจะได้รับผลิตผลเต็มที่ตามที่เก็บเกี่ยวได้

๒. ความไวต่อช่วงแสง (sensitivity tophotoperiod)

ระยะความยาวของกลางวันมีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ดังนั้น พันธุ์ข้าวจึงแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด โดยถือเอาความไวต่อช่วงแสง หรือระยะความยาวของกลางวันเป็นหลัก คือ ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง
๑) ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ข้าวพวกนี้ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีกลางวันสั้น ปกติเราถือว่า กลางวันมีความยาว ๑๒ ชั่วโมง และกลางคืน มีความยาว ๑๒ ชั่วโมง ฉะนั้น กลางวันที่มีความยาว น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันสั้น และกลางวันที่มีความยาวมากกว่า ๑๒ ชั่วโมง ก็ถือว่าเป็นวันยาว และพบว่า ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงในประเทศไทย มักจะเริ่มสร้างช่อดอก และออกดอกในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ ๑๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที หรือสั้นกว่านี้ ดังนั้น ข้าวที่ออกดอกได้ในเดือนที่มีความยาวของกลางวัน ๑๑ ชั่วโมง ๔๐ - ๕๐ นาที จึงได้ชื่อว่า เป็นข้าวที่มีความไว้น้อยต่อช่วงแสง (less sensitive to photoperiod) และพันธุ์ที่ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ ๑๑ ชั่วโมง ๑๐ - ๒๐ นาที ก็ได้ชื่อว่าเป็นพันธุ์ที่มีความไวมากต่อช่วงแสง (strongly sensitive to photoperiod) ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกข้าวว่า พืชวันสั้น (short-day plant) พันธุ์ข้าว ในประเทศไทยที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อช่วงแสง โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ
๒) ข้าวที่ไม่ไวต่อแสง การออกดอกของข้าวพวกนี้ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวได้มีระยะเวลาการเจริญเติบโตครบตามกำหนด ต้นข้าวก็จะออกดอกทันที ไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้น หรือยาว พันธุ์ข้าว กข.๑ เป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อมีอายุเจริญเติบโตนับจากวันตกกล้าครบ ๙๐ - ๑๐๐ วัน ต้นข้าวก็จะออกดอก ฉะนั้น พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง จึงใช้ปลูกได้ผลดี ทั้งในฤดูนาปรัง และนาปี อย่างไรก็ตาม พวกไม่ไวต่อช่วงแสงมักจะให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง

๓. ความสามารถในการขึ้นน้ำและการทนน้ำลึก (floationg ability and tolerence to deep water)


ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยชนิดข้าวไร่ และข้าวนาสวน ไม่จำเป็นต้อนมีความสามารถในการขึ้นน้ำ หรือการทนน้ำลึก เพราะพื้นที่ปลูกนั้นไม่มีน้ำลึก แต่พันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาเมืองนั้น จำเป็นต้อนมีความสามารถในการขึ้นน้ำ และต้องทนน้ำลึกด้วย เพราะระดับน้ำในนาเมืองในระยะต้น ข้าวกำลังเจริญเติบโตทางลำต้น และออกรวง มีความชื้นประมาณ ๘๐ - ๓๐๐ เซนติเมตร โดยเฉพาะในระหว่างเดือนกันยายน และต้นเดือนธันวาคม ปกติชาวนาที่ปลูกข้าวนาเมือง จะต้องลงมือไถนาเตรียมดิน และหว่านเมล็ดพันธุ์ในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม เพราะในระยะนี้ดินแห้ง น้ำไม่ขังในนา ซึ่งเหมาะสำหรับการเตรียมดิน และหว่านเมล็ดพันธุ์ เมื่อฝนตกลงมา หลังจากที่ได้หว่านเมล็ดแล้ว เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปจะงอกเป็นต้นกล้า และเจริญเติบโตในดินที่ไม่มีน้ำขังนั้น จนถึงเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม ฉะนั้น ข้าวพวกนี้จึงมีสภาพคล้ายข้าวไร่ในระยะแรกๆ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ฝนจะเริ่มตกหนักขึ้นๆ และระดับน้ำในนาก็จะสูงขึ้นๆ จนมีความลึกประมาณ ๘๐ - ๓๐๐ เซนติเมตร ในเดือนกันยายน แล้วระดับน้ำลึกนี้ก็จะมีอยู่ในนาอย่างนี้ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม หลักจากนั้น ระดับน้ำก็จะเริ่มลดลงกระทั่งแห้งในเดือนมกราคม ด้วยเหตุนี้ ต้นข้าวจะต้องเจริญเติบโตทางความสูงในระยะที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้มีส่วนของลำต้น และใบจำนวนหนึ่ง อยู่เหนือระดับน้ำ ความสามารถของต้นข้าวในการเจริญเติบโตให้มีต้นสูง เพื่อหนีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้ เรียกว่า ความสามารถในการขึ้นน้ำของต้นข้าว เนื่องจากต้นข้าวจะต้องอยู่ในน้ำที่มีความลึกมากอย่างนี้เป็นเวลา ๒ - ๓ เดือน ก่อนที่ต้นข้าวจะออกรวงจนแก่เก็บเกี่ยวได้ ในต้น หรือกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ระดับน้ำในนาได้ลดลงเกือบแห้ง ฉะนั้น ความสามารถของต้นข้าวที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำลึกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวนี้ จึงเรียกว่า การทนน้ำลึก ดังนั้น การขึ้นน้ำ และการทนน้ำลึก จึงเป็นลักษณะที่จำเป็นยิ่งของพันธุ์ข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ

๔. คุณภาพของเมล็ด (grain quality)


คุณภาพของเมล็ดแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทประกอบด้วยกัน คือ คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ ซึ่งหมายถึง ลักษณะรูปร่าง และขนาดของเมล็ดที่มองเห็นได้ และคุณภาพเมล็ดทางเคมี ซึ่งหมายถึง องค์ประกอบทางเคมีที่รวมกันเป็นเม็ดแป้งของข้าวที่หุงต้มเพื่อบริโภค

๕. ลักษณะรูปต้น (plant type)

นักวิชาการเรื่องข้าวได้ศึกษาพบว่า ต้นข้าว จะให้ผลิตผลสูง หรือต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปต้นของข้าว เพราะรูปต้นของข้าวมีความสัมพันธ์กับการใช้ปุ๋ย หรือที่เรียกว่า การตอบสนองต่อปุ๋ย และการเปลี่ยนแร่ธาตุอาหารจาปุ๋ยให้เป็นแป้ง ซึ่งใช้ในการสร้างส่วนต่างๆ ของต้น และเมล็ดข้าว พันธุ์ข้าวที่ให้ผลิตผลสูง จะต้องมีลักษณะรูปต้นที่สำคัญๆ ดังนี้
๑) ใบมีสีเขียวแก่ ตรง ไม่โค้งงอ แผ่นใบไม่กว้าง และไม่ยาวจนเกินไป
๒) ความสูงของต้นประมาณ ๑๐๐-๑๓๐ เซนติเมตร ความสูงของต้นเป็นระยะตั้งแต่พื้นดินถึงปลายของรวงที่สูงที่สุด
๓) ลำต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย
๔) แตกกอมาก และให้รวงมาก

๖. ความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรู ข้าว (resistance to diseases and insects)


พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะรูปต้นดี ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยสูง ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลิตผลสูงได้ ถ้าพันธุ์นั้นไม่มีความต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูที่ระบาดในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ลักษณะต้านทานต่อโรค และแมลงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ความต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูของต้นข้าวนั้น เป็นผลที่เกิดจากปฏิกิริยาทางพันธุศาสตร์ ระหว่างพันธุกรรมของต้นข้าว และเชื้อโรค หรือแมลง ซึ่งเป็นวิชาการอีกแขนงหนึ่งที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่น

อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00689

โป๊ยเซียน ไม้มงคล

โป๊ยเซียน


ไม้มงคล


ชื่อสามัญ      Crow of Thorns

ชื่อวิทยาศาสตร์     Euphorbia millii.

ตระกูล        EUPHORBIACEAE

ลักษณะทั่วไป โป๊ยเซียน

โป๊ยเซียนเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดย่อม ลำต้นมีความสูงประมาณ 3-5 ฟุต ลำต้นมีหนามปกคลุม หนามแหลม และแข็ง เปลือกลำต้นมีสีเทาหรือเขียวจัด เมื่อกรีดดูลำต้นจะมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากยอดและลำต้นจะทยอยกันออก ลักษณะใบมนรีค่อนค้างแคบเรียวแหลมขอบใบเรียบพื้นใบสีเขียวดอกออกตามปลายกิ่งออกดอกตามปลายกิ่งหรือส่วน ยอดดอกมีขนาดเล็กมีสีแดง เหลือง ชมพู มีกลีบดอก 1 คู่ เป็นรูปไต มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะลำต้น ใบ และดอก จะแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์

การเป็นมงคล ของโป๊ยเซียน

คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นโป๊ยเซียนไว้ประจำบ้านจะนำโชคลาภมาให้คนในบ้านเพราะต้นโป๊ยเซียนเป็นไม้ เสี่ยงทายคือ ถ้าผู้ใดปลูกต้นโป๊ยเซียนออกดอกได้ 8 ดอกขึ้นไปผู้นั้นก็จะมีโชคลาภตามไปด้วย นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่า ต้นโป๊ยเซียนยังช่วยคุ้มครองให้มมีความอยู่เย็นเป็นสุขเพราะต้นโป๊ยเซียนเป็นต้นไม้แห่งเทพเจ้า8องค์ที่คอยคุ้มครอง โลกมนุษย์

เทพเจ้า 8 องค์ ได้แก่

1. เซียนพิการ          2. เซียนหอสมุด

3. เซียนอาจารย์      4. เซียนค้างคาวเผือก

5. เซียนวนิพก         6. เซียนสาวสวย

7. เซียนกวี             8. เซียนถ้ำ

ตำแหน่งที่การปลูกและการปลูกโป๊ยเซียน

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นโป๊ยเซียนไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธเพราะโบ ราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่มีความ รับผิดชอบสูง เป็นผู้ที่ควรเคารพนับถือและประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น

การปลูก โป๊ยเซียน มี 2 วิธี

1. การปลูกในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน เหมาะสำหรับใช้เป็นไม้ดอกประดับภายนอก ขนาดกระถางปลูก 8-12 นิ้ว ควรเป็นกระถางทรงสูง ใช้ดินร่วน : แกลบผุ : เปลือกถั่ว หรือไบไม้ผุ อัตรา 1 : 1 : 2 ผสมดินปลูกและควรเปลี่ยนกระถาง ปีละครั้ง เพื่อการเปลี่ยนดินปลูกใหม่แทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป
2. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวนนิยมปลูกไว้ใกล้ๆกับบ้านเพราะมีเวลาดูแลรักษาที่ใกล้ชิดจะทำให้ เกิดดอกที่สวยงาม ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 2: 1 ผสมดินปลูก

การดูแลรักษา โป๊ยเซียน

แสง                  : ต้องการแสงแดดรำไร จนถึงแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง

น้ำ                     : ต้องการปริมาณน้ำน้อย ทนต่อความแห้งแล้ง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง

ดิน                    : ชอบดินร่วนซุย ดินผสมพิเศษ

ปุ๋ย                    : ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ผสมพิเศษ อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ 1-2 ครั้ง/เดือน

การขยายพันธ์   : การปักชำ การเสียบยอด การเพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การปักชำและการเสียบยอด

โรค                   : โรครากเน่า

อาการ               : โคนต้นมีเส้นใยสีขาวและเหลือง หลังจากนั้นใบและลำต้นเหี่ยวแห้ง

การป้องกัน       : อย่ารดน้ำให้แฉะเกินไป และกำจัดเชื้อราในดินปลูกโดยการตากดินให้แห้ง

การรักษา          : ใช้ยาเนทริฟิน อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

ศัตรู                   : ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องศัตรูรบกวน เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อการทำลายของศัตรูพอสมควร


อ้างอิง : http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00687